โลกของเราปกติมีบริวารเพียงดวงเดียว คือ ดวงจันทร์ แต่เมื่อระหว่างปลายเดือนกันยายนถึงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่โลกของเรามีบริวารสองดวง ดังที่เคยรายงานข่าวไปก่อนหน้านี้
บริวารดวงที่สองที่เพิ่มเข้ามานอกจากดวงจันทร์ก็คือดาวเคราะห์น้อยชื่อ 2024 พีที 5 (2024 PT5) ที่ผ่านเข้ามาใกล้โลกแล้วถูกโลกคว้าจับมาโคจรรอบตัวเอง แต่วงโคจรนี้ไม่เสถียร หลังจากโคจรเพียงไม่ถึงรอบก็หลุดออกจากพันธนาการไป ซึ่งดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้หลุดไปเป็นอิสระตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายนแล้ว
ดาวเคราะห์น้อย2024 พีที 5 เป็นดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มอรชุน (Arjuna) ซึ่งเป็นกลุ่มของดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรเกือบเหมือนของโลก การที่มีวงโคจรใกล้เคียงวงโคจรโลกมาก จึงมีความเร็วสัมพัทธ์กับโลกต่ำ หากดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มนี้เข้าใกล้โลกมากพอ ก็อาจถูกความโน้มถ่วงของโลกคว้าจับเอามาเป็นบริวารได้ ดาวเคราะห์น้อย 2024 พีที 5 ได้เข้ามาเป็นบริวารชั่วคราวของโลกในช่วงระหว่างวันที่ 29 กันยายน จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน
แม้ช่วงที่2024 พีที 5 เข้ามาเป็นบริวารของโลกจะเป็นเวลาเพียงสั้น แต่นักดาราศาสตร์ก็ไม่พลาดโอกาสที่จะศึกษาดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อย่างละเอียด และพบบางอย่างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ทฤษฎีการกำเนิดดวงจันทร์ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปอธิบายว่าเมื่อราวสี่พันล้านปีก่อน มีวัตถุดวงใหญ่พุ่งชนโลกอย่างจัง แรงพุ่งชนทำให้เนื้อโลกส่วนหนึ่งหลุดกระเด็นออกไป ต่อมาวัสดุที่กระเด็นไปโคจรรอบโลกได้เย็นตัวลงและมาเกาะกันเป็นดวงกลายเป็นดวงจันทร์ แต่ก็ไม่ทั้งหมดที่มารวมกันเป็นดวงจันทร์ อาจมีบางส่วนที่ยังคงล่องลอยอยู่ในอวกาศ โคจรรอบดวงอาทิตย์โดยใช้วงโคจรร่วมกับโลก กลายเป็นดาวเคราะห์น้อยไป
สภาพแวดล้อมบริเวณวงโคจรโลกไม่เคยว่างเปล่าแต่มีสะเก็ดดาวและดาวเคราะห์น้อยผ่านมาเป็นระยะ บางครั้งก็ชนเข้ากับโลกและดวงจันทร์ ดังที่ปรากฏรอยแผลถูกชนมากมายบนพื้นผิวดวงจันทร์ การชนดวงจันทร์บางครั้งก็รุนแรงจนเศษวัสดุจากดวงจันทร์กระเด็นออกไปกลายเป็นสะเก็ดดาวและดาวเคราะห์น้อยที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ไป
ดาวเคราะห์น้อย2024 พีที 5 ก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น
"หลักฐานสำคัญที่สนับสนุนสมมุติฐานนี้คืออัตราการหมุนรอบตัวเองที่เร็วมากดาวเคราะห์น้อย 2024 พีที 5 หมุนรอบตัวเองรอบหนึ่งใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง สิ่งนี้บ่งชี้ว่าวัตถุนี้เคยเป็นชิ้นส่วนของวัตถุอื่นที่ใหญ่กว่าแต่ถูกการกระทบกระแทกจนหลุดออกมา" คาร์ลอส เด ลา ฟูเอนเต มาร์กอส ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยกอมปลูเตนเซแห่งมาดริดอธิบาย
นอกจากนี้สเปกตรัมของดาวเคระห์น้อยดวงนี้ก็ยังแสดงว่ามีองค์ประกอบทางเคมีตรงกับตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ที่นำกลับมาโดยยานลูนาของโซเวียตและจากภารกิจอะพอลโลของนาซา สิ่งเหล่านี้ล้วนสนับสนุนว่า ดาวเคราะห์น้อย 2024 พีที 5 เกิดจากดวงจันทร์ นอกจากนี้ยังอาจหมายความว่าดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มอรชุนทั้งหมดก็มีต้นกำเนิดแบบเดียวกันด้วย
ในเมื่อดวงจันทร์เกิดจากโลกและดาวเคราะห์น้อย 2024 พีที 5 ก็เกิดจากดวงจันทร์ นั่นหมายความว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ก็ไม่ใช่วัตถุแปลกปลอมที่ไหน เป็นทายาทของโลกนั่นเอง การเข้ามาเป็นบริวารโลกชั่วคราวของดาวเคราะห์น้อย 2024 พีที 5 เมื่อเดือนก่อนจึงอาจเทียบได้กับการกลับมา "เยี่ยมญาติ" ของลูกหลานโลกเรานั่นเอง
บริวารดวงที่สองที่เพิ่มเข้ามานอกจากดวงจันทร์ก็คือ
ดาวเคราะห์น้อย
แม้ช่วงที่
ทฤษฎีการกำเนิดดวงจันทร์ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปอธิบายว่า
สภาพแวดล้อมบริเวณวงโคจรโลกไม่เคยว่างเปล่า
ดาวเคราะห์น้อย
"หลักฐานสำคัญที่สนับสนุนสมมุติฐานนี้คืออัตราการหมุนรอบตัวเองที่เร็วมาก
ภาพแสดงเหตุการณ์ที่โลกในอดีตเคยถูกวัตถุขนาดใหญ่พุ่งชนจนเกิดเศษเนื้อโลกกระเด็นออกไป ซึ่งต่อมาเศษวัสดุเหล่านั้นก็กลับมาเกาะกันเป็นดวงและกลายเป็นดวงจันทร์ในที่สุด
(จาก Ron Miller)
นอกจากนี้
ในเมื่อดวงจันทร์เกิดจากโลก