สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อาการโซโฮยังน่าเป็นห่วง

อาการโซโฮยังน่าเป็นห่วง

1 ส.ค. 2541
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ได้เกิดการขัดข้องในด้านการติดต่อระหว่างยานอวกาศโซโฮ (SOHO) กับภาคพื้นดินตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา วิศวกรภารกิจสันนิษฐานว่ายานคงจะเกิดการหมุนตัวอย่างช้า ๆ ทำให้แผงรับพลังงานสุริยะรับแสงอาทิตย์ไม่เต็มเวลา ซึ่งเป็นผลให้พลังงานของยานไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังว่าภายในไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ตำแหน่งของยานจะเปลี่ยนไป และยานจะได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์มากขึ้นจนทำให้ได้พลังงานกลับคืนมาอีก แต่โอกาสที่ยานโซโฮจะกลับมาทำงานได้ดังเดิมก็น้อยเต็มที เนื่องจากอุปกรณ์และถังพลังงานคงจะเสียหายไปแล้วจากความเยือกแข็งเป็นเวลานาน

ในขณะเดียวกัน ได้มีข้อเสนอให้นำอุปกรณ์สำรองของโซโฮไปใช้กับยาน ทริอานา (Triana) แทน ยานทริอานานี้เป็นยานสำรวจโลกซึ่งจะประจำอยู่ในอวกาศที่ตำแหน่ง L1 เช่นเดียวกันกับยานโซโฮ คือที่ระยะระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร ยานทริอานามีกำหนดเริ่มปฏิบัติการณ์ในปี พ.ศ. 2543 โดยหน้าที่หลักคือจะถ่ายภาพโลกด้วยความละเอียดสูงและส่งภาพกลับมายังโลกตลอดเวลา โครงการทริอานานี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงทั้งจากรัฐสภาและนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งมองเห็นประโยชน์ของยานเพียงน้อยนิด คาดว่ายานทริอานาจะมีมูลค่าประมาณ 20 ถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ 

แต่แนวคิดที่จะนำอุปกรณ์ของโซโฮไปใช้ในทริอานาก็ได้รับการเห็นพ้องจากนักวิทยาศาสตร์หลายคน เนื่องจากจะเป็นช่วงเวลาอันเหมาะเจาะที่จะได้สำรวจดวงอาทิตย์ในช่วงที่มีปรากฏการณ์บนพื้นผิวมากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงปี พ.ศ. 2544 

หลังจากที่ยานโซโฮได้นิ่งเงียบไปนานถึง สัปดาห์ ได้มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม เวลา 6:51 p.m. EDT นักวิทยาศาสตร์ได้สามารถตรวจจับสัญญาณจากยานโซโฮได้ โดยการใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุของเครือข่ายดีปสเปซและกล้องเอริซิโบ สัญญาณที่ได้รับจากยานมีลักษณะเป็นช่วง ๆ นานประมาณ ถึง 10 วินาที แม้ว่าสัญญาณดังกล่าวไม่มีข้อมูลใด ๆ ฝังอยู่ แต่ก็เป็นหลักฐานที่แสดงว่ายานยังคงสามารถรับและตอบสนองต่อคำสั่งจากภาคพื้นดินได้อยู่ 

จากสัญญาณที่จับได้ คาดว่ายานโซโฮกำลังหมุนตีลังกาด้วยอัตราประมาณหนึ่งรอบต่อนาที ซึ่งอัตราที่ค่อนข้างต่ำนี้ อาจต่ำพอที่จะทำให้แผงเซลล์สุริยะสามารถเก็บพลังงานได้เพียงพอ ที่จะทำให้ระบบสื่อสารกลับมาทำงานได้อีก 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติ่มของยานโซโฮได้ที่ http://sohowww.nascom.nasa.gov