สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางเคียงข้างสุริยุปราคา ค้นพบโดยคนไทย

ดาวหางเคียงข้างสุริยุปราคา ค้นพบโดยคนไทย

23 เม.ย. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
สุริยุปราคาแห่งปีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่  เมษายน 2567 ที่ทวีปอเมริกาได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ก่อนที่สุริยุปราคาดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่นาน มีการเชิญชวนให้คนที่จะเฝ้าดูปรากฏการณ์นี้คอยสังเกตหาดาวหางดวงหนึ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในช่วงนี้ นั่นคือดาวหาง 12 พี/ปงส์-บรูกส์ (12P/Pons-Brooks) ซึ่งกำลังทวีความสว่างขึ้นทุกวัน เพราะอาจมองเห็นได้ขณะเกิดสุริยุปราคาด้วย  ปกติดาวหางดวงนี้จัดว่าสังเกตค่อนข้างลำบากเนื่องจากมีความสว่างไม่มากนักและมีตำแหน่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จึงถูกรบกวนจากแสงจ้าของดวงอาทิตย์ การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงแสงจ้าจะลดหายลงไปมาก อาจทำให้ดาวหางปรากฏขึ้นให้เห็นได้ง่าย ๆ ก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะยิ่งทำให้ปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ดูสวยงามน่าประทับใจยิ่งขึ้น เพราะมีทั้งสุริยุปราคาและดาวหางปรากฏพร้อมกันและใกล้กัน 

หลังสุริยุปราคาผ่านพ้นไป ปรากฏว่ามีผู้ถ่ายภาพสุริยุปราคาติดภาพดาวหางได้จริง อย่างไรก็ตาม ดาวหางดวงนั้นไม่ใช่ดาวหาง 12 พี แต่เป็นดาวหางดวงใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบหมาด ๆ ก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง และที่สำคัญคือ ดาวหางดวงนี้ถูกค้นพบโดยคนไทย

ภาพสุริยุปราคาเมื่อวันที่ เมษายน 2567 และดาวหางโซโฮ-5008 (SOHO-5008) ถ่ายด้วยเทคนิคเอชดีอาร์ (จาก Petr Horálek, Josef Kujal, Milan Hlaváč)

ดาวหางดวงนี้ค้นพบโดย นายวรเชษฐ์ บุญปลอด นายวรเชษฐ์ค้นพบดาวหางดวงนี้จากภาพที่ถ่ายโดยกล้องลาสโกซี และ ซี ของหอสังเกตการณ์โซโฮ ซึ่งเป็นดาวเทียมสังเกตดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ กล้องนี้คอยถ่ายภาพอวกาศบริเวณรอบดวงอาทิตย์โดยมีแผ่นป้องแสงบังตัวดวงอาทิตย์ไว้เหมือนกับการสร้างสุริยุปราคาเทียมตลอดเวลา โซโฮจึงมีโอกาสเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ดวงอาทิตย์โดยที่กล้องอื่นไม่มีโอกาส 

ดาวหางดวงนี้มีชื่อว่า โซโฮ-5008 (SOHO-5008) หมายความว่าเป็นดาวหางที่ถูกค้นพบจากภาพของโซโฮ และเป็นลำดับที่ 5,008 

หอสังเกตการณ์โซโฮ ดาวเทียมสำรวจดวงอาทิตย์ขององค์การนาซาและอีซา 

ขณะที่ถูกค้นพบ ภาพดาวหางดวงนี้เป็นเพียงปุยจาง ๆ ในภาพถ่ายจากคอโรนากราฟเท่านั้น แม้ในขณะที่เกิดสุริยุปราคาก็มีคนถ่ายภาพติดดาวหางดวงนี้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น 

หลังจากสุริยุปราคาผ่านไปไม่นาน ดาวหางก็สว่างขึ้นอย่างมากจนมองเห็นได้อย่างชัดเจนในภาพจากโซโฮที่ถ่ายในเวลาต่อมา น่าเสียดายที่ดาวหางดวงนี้ไม่มีอีกแล้ว หลังจากถูกค้นพบเพียง 12 ชั่วโมง ดาวหางโซโฮ-5008 ก็สลายตัวไปหลังจากเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก และเนื่องจากข้อมูลที่มีอย่างจำกัด จึงไม่มีโอกาสศึกษาว่าดาวหางดวงนี้มีขนาดเท่าใด หรือเข้าเฉียดดวงอาทิตย์ด้วยระยะทางเท่าใด

ดาวหางโซโฮ-5008 เป็นหนึ่งในดาวหางชนิดที่เรียกว่า ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ เป็นดาวหางที่มีเส้นทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเป็นพิเศษ ดาวหางกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยที่ต้องสลายตัวไปขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ 

ดาวหางโซโฮ 5008 (SOHO 5008) ปรากฏในภาพจากคอโรนากราฟของดาวเทียมโซโฮอย่างชัดเจนหลังสุริยุปราคาผ่านพ้นไป วงกลมสีน้ำตาลทางขวาบนของภาพคือแผ่นป้องแสงของโซโฮ วงสีขาวแสดงขนาดและตำแหน่งจริงของดวงอาทิตย์ (จาก NASA/SDO)

คนตาไม่ดีถอยไป ภาพนี้คือภาพที่ค้นพบดาวหางโซโฮ-5008 เป็นครั้งแรก ดาวหางคือปุยเล็ก ๆ อยู่ระหว่างเส้นนำสีเหลืองทางซ้ายล่างภาพ 

ก่อนหน้านี้ มีเหตุการณ์ที่มีภาพดาวหางติดอยู่บนภาพถ่ายของโซโฮขณะเกิดสุริยุปราคาเพียงสองครั้งเท่านั้น ครั้งแรกคือในปี 2551 และอีกครั้งหนึ่งคือสุริยุปราคาที่อาร์เจนตินาและชิลีในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ดาวหางดวงที่พบในครั้งนั้นชื่อ ดาวหางซี/2020 เอกซ์ 3 (C/2020 X3) หรือ โซโฮ-3524 (SOHO-3524) ซึ่งก็ค้นพบโดยนายวรเชษฐ์อีกเช่นกัน 

นายวรเชษฐ์ บุญปลอด เป็นกรรมการวิชาการของสมาคมดาราศาสตร์ไทยและราชบัณฑิตยสภา มีผลงานเขียนมากมายทั้งทางออนไลน์ วารสาร และหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะข้อมูลด้านปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ นายวรเชษฐ์ค้นพบดาวหางจากภาพของโซโฮเป็นจำนวนมาก ในจำนวนดาวหางกว่า 5,000 ดวงของโซโฮ เป็นดาวหางที่ค้นพบโดยนายวรเชษฐ์ไม่น้อยกว่า 850 ดวง