พระมหากษัตริย์ไทยกับดาราศาสตร์ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 7 ธันวาคม 2559
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงวางรากฐานวิชาดาราศาสตร์ด้วยการนำพระราชโอรส พระราชธิดา และข้าราชบริพาร ตามเสด็จไปหว้ากอในครั้งนั้น 7 ปีต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2418 ได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงอีกครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระวโรกาส ให้คณะนักดาราศาสตร์อังกฤษเข้าเฝ้าและพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ ให้ทางราชการช่วยเหลือเป็นอย่างดี คณะนักดาราศาสตร์อังกฤษตั้งสังเกตสุริยุปราคาเต็มคราสที่แหลมเจ้าลาย จังหวัดเพชรบุรี ครั้งนั้น เซอร์แฮรี่ ออด และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้ไปดูสุริยุปราคาด้วย สุริยุปราคาครั้งนั้นไม่มืดเท่ากับสุริยุปราคา 2411 แต่คอโรนาสว่างได้ดีกว่า สว่างเท่ากับแสงจันทร์วันเพ็ญ น้อยคนเห็นแสงเปลวพุ่งและคอโรนาอยู่ล้อมรอบดวงจันทร์เป็นรูปสม่ำเสมอดี น่าเสียดายที่นักดาราศาสตร์เหล่านี้ ไม่สามารถถ่ายภาพสุริยุปราคาเหล่านี้ได้ เว้นไว้เสียแต่ภาพวาดสุริยุปราคาเต็มดวงของ PRINCE TONG ที่ผู้รวบรวมไปพบภาพนี้เมื่อมีโอกาสไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ ปี 2537 อายุของมหาวิทยาลัยครบ 130 ปีและหอดูดาวแชมเบอร์ลินอายุครบ 100 ปี พอดีเช่นกัน
จากการสืบค้นเอกสารประวัติศาสตร์ พอที่จะสรุปได้ว่า PRINCE TONG คือท่านทองในราว ปีเถาะ 3 พ.ศ. 2410 มีคำกลอนสังเกตพระอัชฌาศัยเจ้านาย เมื่อยังทรงพระเยาว์ พิเคราะห์ดูเหมือนจะแต่งเมื่อปลายรัชกาลที่ 4 เที่ยวรอบจุดโคม "ท่านทอง" พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ พระชันษา 12 ปี คือ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ต่อมา ท่านได้คำนวณการเกิดอุปราคาถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ด้วยตำราโหราศาสตร์ยุโรป เจริญรอยตามพระยุคลบาททูลกระหม่อมรัชกาลที่ 4 เช่นเดียวกับ พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์ ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาเทววงศ์วโรปการ ภาพสุริยุปราคาเต็มดวงในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ PRINCE TONG วาดนั้น จึงเป็นภาพเดียวที่มีอยู่ในตำราดาราศาสตร์ฝรั่งที่นำไปศึกษาเรื่องคอโรนาและพวยแก๊ส เอกสารสำคัญที่ผู้เขียนค้นพบในห้องสมุดมหาวิทยาลัยเดนเวอร์เกี่ยวกับดวงอาทิตย์mและสุริยุปราคาร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีจำนวนมาก การคำนวณสุริยุปราคาสมัยนั้น ยังใช้ตารางตำแหน่ง ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ การใช้ล็อกการิทึมมีการคำนวณย้อนมาจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เฉพาะที่เห็นได้ที่อเมริกาเท่านั้น หากใครคำนวณเพื่อที่จะทราบว่าตำบลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อเมริกาแล้วจะต้องคำนวณเอง ดังเช่น การคำนวณของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม และสมเด็จกรมเจ้าพระยาเทววงศ์วโรปการ กล่าวถึงนักดาราศาสตร์ต่างชาติในสมัยนั้น ทำการสังเกตสุริยุปราคาตามเส้นทางกึ่งกลางคราส ทิ้งช่วงห่างกันตามความสะดวกและเหมาะสม จากนั้น ก็จะนำผลการสังเกตมาทำการศึกษาร่วมกัน ในบางครั้งการเตรียมการอย่างเต็มที่ก่อนปรากฏการณ์ถึงหกเดือน ด้วยอุปกรณ์หนักหลายตัน ผลที่ได้หลายครั้งประสบความสำเร็จหลายครั้งประสบความล้มเหลว เพื่อการลดอัตราเสี่ยงต่อความล้มเหลว นักดาราศาสตร์จึงกระจายตัวไปยังตำบลต่าง ๆ บางครั้งไปยังประเทศต่าง ๆ บนเส้นทางกึ่งกลางคราส ดังเช่น สุริยุปราคาเต็มดวงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 9 เป็นต้น เมื่อ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 คณะนักดาราศาสตร์ตั้งสถานีสังเกตสุริยุปราคาโดยเยอรมัน ที่เมืองเอเคน (ประเทศเยเมน) ดัทช์ที่ซิลิบิส และฝรั่งเศสที่หว้าโทน เป็นต้น ในการนำเสนอบทความครั้งนี้ ผู้รวบรวมได้นำ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ 18สิงหาคม พ.ศ. 2411 ในที่ต่าง ๆ หลากหลายความรู้ความสามารถ ประมวลมาเพื่อให้มองเห็นถึงการพัฒนาการทางดาราศาสตร์เมื่อ 127 ปีที่แล้ว เอกสารที่นำเสนออยู่ในชั้นเอกสารที่หาได้ยาก เพื่อบูชาครูถึงคราสครู คราสที่ปกป้องพื้นแผ่นดินไทยด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวทรงมีสัมฤทธิผลชั้นสูงสุดในสมัยนั้น คือ กระบวนการทฤษฎีและปฏิบัติทางดาราศาสตร์ เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในอารยประเทศ เพื่อให้บทความนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงขอนำคราสที่ PRINCE TONG วาด พร้อมประวัติที่นักดาราศาสตร์ต่างชาติบันทึกไว้สั้น ๆ สมัยรัชกาลที่ 5 นำเสนอในครั้งนี้ด้วย
เอกสารอ้างอิง
อารี สวัสดี (ที่ปรึกษาสมาคมดาราศาสตร์ไทย) สุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย 24 ตุลาคม 2538 ,สารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ฉบับพิเศษ 2538