อุปราคาในปี 2553
หากไม่นับจันทรุปราคาบางส่วนที่เกิดในช่วงก่อนเช้ามืดของวันที่ 1 มกราคม ปีนี้มีสุริยุปราคา 2 ครั้ง และจันทรุปราคา 2 ครั้ง รวมเป็นอุปราคาทั้งหมด 4 ครั้ง ประเทศไทยมีโอกาสเห็นจันทรุปราคากับสุริยุปราคาอย่างละครั้ง
1.
สุริยุปราคาครั้งแรกเกิดขึ้นในบ่ายวันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2553 ตามเวลาในประเทศไทย ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกจนมีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์มากจึงเกิดเป็นสุริยุปราคาวงแหวน เส้นทางคราสวงแหวนผ่านทวีปแอฟริกา มหาสมุทรอินเดีย ทางใต้ของประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า บังกลาเทศ และจีน สุริยุปราคาเริ่มขึ้นเมื่อเงามัวของดวงจันทร์แตะผิวโลกในเวลา 11:05 น. ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นเงาคราสวงแหวนเริ่มสัมผัสผิวโลกเวลา 12:14 น. ทางตะวันตกของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เงาเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกอย่างรวดเร็ว เข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ผ่านยูกันดา ซีกด้านเหนือของทะเลสาบวิกตอเรีย เคนยา ส่วนเล็ก ๆ ทางเหนือของแทนซาเนีย และทางใต้ของโซมาเลีย ก่อนลงสู่มหาสมุทรอินเดีย
เมืองบังกีในสาธารณรัฐแอฟริกากลางเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน3 นาที 57 วินาที โดยดวงอาทิตย์มีมุมเงย 4 องศา กัมปาลาในยูกันดาเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 7 นาที 38 วินาที ส่วนที่เมืองไนโรบีของเคนยาเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 6 นาที 52 วินาที
กึ่งกลางคราสซึ่งเห็นสุริยุปราคาวงแหวนเกือบนานที่สุดอยู่ในมหาสมุทรนาน 11 นาที 8 วินาที เกิดขึ้นเวลา 14:07 น. นับเป็นสุริยุปราคาวงแหวนที่ยาวนานที่สุดในคริสต์สหัสวรรษที่ 3 เงาคราสวงแหวนพาดผ่านหมู่เกาะมัลดีฟส์ เมืองมาเลเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนานถึง 10 นาที 46 วินาที จากนั้นถึงทางใต้ของอินเดียและตะวันตกเฉียงเหนือของศรีลังกา เมืองจาฟนาของศรีลังกาซึ่งอยู่ใกล้เส้นกลางคราสเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 10 นาที 9 วินาที
เงาคราสมุ่งหน้าสู่อ่าวเบงกอลผ่านพม่า ส่วนเล็ก ๆ ทางตอนล่างของบังกลาเทศกับอินเดียตะวันออก มัณฑะเลย์เกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 7 นาที 37 วินาที จากนั้นเข้าสู่ประเทศจีน ฉงชิ่งเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 7 นาที 50 วินาที เจิ้งโจว 4 นาที 40 วินาที คราสวงแหวนสิ้นสุดบริเวณแหลมชานตงในเวลา 15:59 น. จากนั้นปรากฏการณ์สิ้นสุดเมื่อเงามัวหลุดออกจากผิวโลกในเวลา 17:08 น.
บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนซึ่งเงามัวของดวงจันทร์พาดผ่านครอบคลุมส่วนใหญ่ของทวีปเอเชียแอฟริกา บางส่วนทางตะวันออกของยุโรป มหาสมุทรอินเดีย สำหรับประเทศไทยสามารถสังเกตสุริยุปราคาครั้งนี้ได้ทั่วทุกภาคโดยภาคเหนือตอนบนเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากกว่าภาคอื่น ๆ (ดูรายละเอียดในสุริยุปราคา 15 มกราคม 2553)
สุริยุปราคาครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาครั้งที่23 ใน 70 ครั้งของชุดซารอสที่ 141 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1613 สิ้นสุดในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2857 ชุดซารอสนี้เริ่มด้วยสุริยุปราคาบางส่วน 7 ครั้ง วงแหวน 41 ครั้ง และบางส่วน 22 ครั้ง ตามลำดับ คราสในซารอสนี้เริ่มต้นบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือแล้วไปสิ้นสุดใกล้ขั้วโลกใต้ สุริยุปราคาวงแหวนครั้งที่นานที่สุดคือ 12 นาที 9 วินาที เกิดขึ้นเมื่อ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1955
2.
จันทรุปราคาครั้งนี้เห็นได้ในประเทศไทย เกิดขึ้นในช่วงพลบค่ำของคืนวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2553 ดวงจันทร์เริ่มแหว่งเวลา 17:17 น. แต่ประเทศไทยยังไม่เห็นเนื่องจากดวงจันทร์ยังไม่ขึ้น เงามืดของโลกจะบังดวงจันทร์ลึกที่สุดเวลา 18:38 น. ด้วยขนาดความลึก 54% ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ ทางทฤษฎีที่กรุงเทพฯ เริ่มเห็นขอบบนของดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้าในเวลา 18:47 น. แต่ในความเป็นจริงอาจเริ่มเห็นดวงจันทร์ได้หลังจากนั้นเพราะขอบฟ้ามีหมอกควันบดบัง เมื่อขึ้นมาแล้วจะเห็นดวงจันทร์แหว่งทางซ้ายมือด้านบนและเป็นเวลาที่ท้องฟ้ายังไม่มืด
จันทรุปราคาบางส่วนสิ้นสุดในเวลา20:00 น. ซึ่งดวงจันทร์จะกลับมาเต็มดวง ขณะนั้นที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์มีมุมเงยเพียง 15 องศา จึงมีเวลาสังเกตจันทรุปราคาบางส่วนได้นานประมาณ 1 ชั่วโมง ภูมิภาคที่มีโอกาสเห็นได้นานกว่านี้คือด้านตะวันออกของภาคอีสานและภาคตะวันออกซึ่งจะเห็นดวงจันทร์ขึ้นเร็วกว่านี้และขณะสิ้นสุดคราสนั้นดวงจันทร์ก็อยู่สูงกว่าที่เห็นในกรุงเทพฯ เล็กน้อย พื้นที่บนโลกที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้พร้อมประเทศไทยคือทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรแปซิฟิก อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ (ยกเว้นด้านตะวันออก)
ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก 15:57:21 น.
2.เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน 17:16:57 น.
3.กึ่งกลางของปรากฏการณ์ 18:38:27 น.
4.สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน 19:59:50 น.
5.ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 21:19:33 น.
จันทรุปราคาครั้งนี้เป็นจันทรุปราคาครั้งที่57 ใน 83 ครั้ง ของชุดซารอสที่ 120 ซึ่งดำเนินอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1000 - 2479 ชุดซารอสนี้เริ่มด้วยจันทรุปราคาเงามัว 21 ครั้ง บางส่วน 7 ครั้ง เต็มดวง 25 ครั้ง บางส่วน 7 ครั้ง และเงามัว 23 ครั้ง ตามลำดับ จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดของชุดซารอสนี้เกิดขึ้นเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 นาน 1 ชั่วโมง 44.9 นาที
จันทรุปราคาครั้งนี้เป็นจันทรุปราคาในชุดซารอสเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่10 ธันวาคม ค.ศ. 1685 (เข้าสู่เช้ามืดวันที่ 11 ธันวาคม) ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทอดพระเนตรที่บริเวณระเบียงด้านทิศตะวันตกของตำหนักทะเลชุบศร เมืองละโว้ (พระที่นั่งไกรสรสีหราช จ.ลพบุรี)
1. สุริยุปราคาวงแหวน 15 มกราคม 2553
สุริยุปราคาครั้งแรกเกิดขึ้นในบ่ายวันศุกร์ที่ เมืองบังกีในสาธารณรัฐแอฟริกากลางเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน
กึ่งกลางคราสซึ่งเห็นสุริยุปราคาวงแหวนเกือบนานที่สุดอยู่ในมหาสมุทร
เงาคราสมุ่งหน้าสู่อ่าวเบงกอล
บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนซึ่งเงามัวของดวงจันทร์พาดผ่านครอบคลุมส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย
สุริยุปราคาครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาครั้งที่
2. จันทรุปราคาบางส่วน 26 มิถุนายน 2553
จันทรุปราคาครั้งนี้เห็นได้ในประเทศไทย จันทรุปราคาบางส่วนสิ้นสุดในเวลา
ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 26 มิถุนายน 2553
1. 2.
3.
4.
5.
จันทรุปราคาครั้งนี้เป็นจันทรุปราคาครั้งที่
จันทรุปราคาครั้งนี้เป็นจันทรุปราคาในชุดซารอสเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่