สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ต่อวีซ่ามาร์สโอดิสซีย์

ต่อวีซ่ามาร์สโอดิสซีย์

1 ก.ย. 2547
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ยานมาร์สโอดิสซีย์ ยานสำรวจดาวอังคารขององค์การนาซาได้เริ่มภารกิจภาคต่อเนื่องเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ปฏิบัติภารกิจมาจนลุล่วงตามแผนเดิมแล้ว ยานมาร์สโอดิสซีย์ได้เริ่มสำรวจดาวอังคารตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2545 มีอายุการทำงานตามที่กำหนดตอนต้น 23 เดือน หรือเท่ากับ ปีของดาวอังคาร แต่เนื่องจากยานยังคงอยู่ในสภาพที่ใช้งานต่อไปได้ ทางนาซาจึงยืดอายุภารกิจให้ยานออกไปอีกจนถึงเดือนกันยายน 2549 หรืออีก ปีดาวอังคาร

เนื่องจากภารกิจหลักอันได้แก่การสำรวจการเปลี่ยนแปลงสภาพลมฟ้าอากาศของดาวอังคารตลอดปีได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว ภารกิจภาคต่อเนื่องที่เหลือส่วนหนึ่งจึงเป็นการสำรวจซ้ำแบบเดิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากเพราะทำให้ได้ข้อมูลด้านลมฟ้าอากาศต่อเนื่องยาวนานขึ้น 

นอกจากนี้ ภารกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมาร์สโอดิสซีย์ก็คือการสนับสนุนภารกิจอื่น ตลอดเวลาที่ผ่านมา ข้อมูลจากยานสปิริตและออปพอร์ทูนิตีของภารกิจมาร์สเอกซ์พลอเรชันโรเวอร์กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ส่งมายังโลกโดยการถ่ายทอดสัญญาณผ่านยานมาร์สโอดิสซีย์ นอกจากนี้แผนที่ที่สร้างโดยยานมาร์สโอดิสซีย์ยังมีส่วนช่วยในการเลือกทำเลที่ลงจอดของยานทั้งสองลำนี้ และจะรวมถึงยานในภารกิจฟีนิกซ์ที่จะไปสำรวจดาวอังคารในปี 2551 ด้วย 

ส่วนหนึ่งในความสำเร็จของยานมาร์สโอดิสซีย์ที่ผ่านมาได้แก่

 ค้นพบไฮโดรเจนใต้พื้นดินบริเวณขั้วใต้ 

 พบน้ำแข็งที่เป็นน้ำ (H2O) ที่ขั้วเหนือในช่วงฤดูร้อนของดาวอังคาร ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์แข็งได้ระเหิดไปหมดแล้ว 

 พบแร่โอลิไวน์กระจายอยู่ทั่วไปบนผิวดาวอังคาร แสดงถึงความแห้งแล้งที่มีอยู่ทั่วไป 

 พบว่าในพื้นที่เขตอบอุ่นบางแห่งมีปริมาณน้ำแข็งมากจนไม่สมดุลกับบรรยากาศ แสดงว่าดาวอังคารอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 

 สภาพแวดล้อมบนดาวอังคารมีระดับรังสีทั้งจากการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์และจากรังสีคอสมิกรุนแรงกว่าที่โลกได้รับราว 2-3 เท่า 

 สามารถทำแผนที่ดาวอังคารด้วยความละเอียดสูงสุดเท่าที่เคยทำได้ แผนที่รังสีอินฟราเรดที่ได้จากยานมีความละเอียดสูงสุดถึง 100 เมตร 

ยานโอดิสซีย์ออกเดินทางจากโลกไปเมื่อวันที่ เมษายน 2544 ไปถึงดาวอังคารเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2544 ประกอบด้วยอุปกรณ์สำรวจหลักสามส่วน ได้แก่ กล้องถ่ายภาพที่ถ่ายได้ทั้งแสงธรรมดาและแสงอินฟราเรด สเปกโทรมิเตอร์ และเครื่องวัดรังสีแวดล้อม ปัจจุบันสภาพทั่วไปของยานมาร์สโอดิสซีย์ยังอยู่ในสภาพดีเยี่ยม มีเพียงเครื่องวัดรังสีแวดล้อมเท่านั้นที่เสียไปจากการเกิดการลุกจ้าขนาดยักษ์บนดวงอาทิตย์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

ยานมาร์สโอดิสซีย์

ยานมาร์สโอดิสซีย์

แผนที่แสดงบริเวณที่มีไฮโดรเจนปริมาณมากบริเวณขั้วเหนือและใต้ของดาวอังคาร (สีน้ำเงินและม่วง) เชื่อว่าบริเวณดังกล่าวมีน้ำมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร

แผนที่แสดงบริเวณที่มีไฮโดรเจนปริมาณมากบริเวณขั้วเหนือและใต้ของดาวอังคาร (สีน้ำเงินและม่วง) เชื่อว่าบริเวณดังกล่าวมีน้ำมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร

แผนที่อินฟราเรดบนดาวอังคารที่ถ่ายโดยกล้องเทมีส (THEMIS) ของยานมารส์โอดิสซีย์

แผนที่อินฟราเรดบนดาวอังคารที่ถ่ายโดยกล้องเทมีส (THEMIS) ของยานมารส์โอดิสซีย์

ที่มา: