สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวอังคารหมุนเร็วขึ้น

ดาวอังคารหมุนเร็วขึ้น

16 ส.ค. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ยานอินไซต์ (InSight) เป็นยานสำรวจดาวอังคารขององค์การนาซา ยานได้ลงจอดและปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารตั้งแต่ปี 2561 จนกระทั่งพลังงานหมดและยุติภารกิจลงในเดือนธันวาคม 2565 แม้ภารกิจจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ข้อมูลอันมีค่าจากยานที่เก็บมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสี่ปียังคงมีประโยชน์ต่อนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาธรณีวิทยาของดาวอังคาร

ภารกิจหลักของอินไซต์คือการศึกษาโครงสร้างภายในของดาวอังคาร บันทึกคลื่นไหวสะเทือน ช่วยเปิดเผยถึงโครงสร้างภายในอย่างที่ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน 

โครงสร้างภายในของดาวอังคารที่สร้างขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลคลื่นไหวสะเทือน (จาก IPGP/David Ducros)


บนยานอินไซต์มีอุปกรณ์ตัวเก่งตัวหนึ่งชื่อว่า ไรส์ (RISE--Rotation and Interior Structure Experiment) อุปกรณ์นี้ช่วยให้นักดาราศาสตร์ทราบถึงโครงสร้างภายในของดาวอังคาร  โดยการวัดการกวัด (nutation) ซึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนที่ของของเหลวภายในดาว ข้อมูลจากการวัดคลื่นไหวสะเทือนพบว่า แก่นดาวอังคารมีรัศมี 1,780-1,830 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าค่อนข้างใหญ่ มีขนาดกว่าครึ่งของขนาดดาวอังคารเอง (3,390 กิโลเมตร) และพบว่าแกนมีความหนาแน่น 6.2-6.3 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร และยังพบว่าแกนของดาวอังคารมีลักษณะบูดเบี้ยวไม่เป็นทรงกลมอีกด้วย 

อุปกรณ์ไรส์ยังมีการทดลองอีกแบบหนึ่งคือ การวัดอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวอังคาร การทดลองนี้ใช้เครือข่ายดีปสเปซของนาซาส่งสัญญาณวิทยุความเข้มสูงไปยังดาวอังคาร ไรส์จะสะท้อนสัญญาณนั้นกลับมา การที่ทั้งโลกและดาวอังคารต่างหมุนรอบตัวเอง ความถี่ของคลื่นวิทยุที่ส่งไปมาระหว่างโลกกับดาวอังคารจึงเลื่อนไปจากเดิมซึ่งเป็นผลจากการเลื่อนดอปเพลอร์ที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของดาวอังคาร การวิเคราะห์ความถี่ที่เปลี่ยนแปลงนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทราบอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวอังคารได้อย่างแม่นยำ 

ภาพถ่ายเซลฟีของยานอินไซต์บนพื้นผิวดาวอังคาร ถ่ายในเดือนเมษายน 2565  (จาก NASA/JPL-Caltech)

จากการทดลองและเก็บข้อมูลตลอดอายุภารกิจ 900 วัน(ดาวอังคาร) ของยานอินไซต์ นักวิทยาศาสตร์พบว่าดาวอังคารหมุนเร็วขึ้น 0.76 มิลลิวินาทีต่อปี 

แม้จะเป็นตัวเลขอันน้อยนิด แต่ก็ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องงุนงงเพราะอธิบายไม่ได้ว่าดาวอังคารหมุนเร็วขึ้นได้อย่างไร

โลกของเรา อัตราการหมุนรอบตัวเองก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แต่เป็นไปในทางตรงข้าม โลกหมุนช้าลงเนื่องจากแรงน้ำขึ้นลงจากดวงจันทร์ น้ำในมหาสมุทรที่ขึ้นลงเป็นคลื่นตามตำแหน่งของดวงจันทร์เป็นตัวหน่วงให้โลกหมุนช้าลง

ดาวอังคารไม่มีมหาสมุทร ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอัตราหมุนรอบตัวเองย่อมเกิดจากสาเหตุอื่น ซึ่งนักดาราศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่มีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะเกี่ยวกับการกระจายมวลภายในตัวดาว เช่นอาจเกิดจากการสะสมน้ำแข็งที่ขั้วดาว ซึ่งจะมีผลต่อความเร็วในการหมุนรอบตัวเอง ทำนองเดียวกับนักสเก็ตน้ำแข็งที่หมุนตัวอยู่กลางลาน ที่หมุนเร็วขึ้นเมื่อหุบแขนเข้าหาตัว