สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วัดวันของดาวเคราะห์ต่างระบบ

วัดวันของดาวเคราะห์ต่างระบบ

26 พ.ค. 2557
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์ประสบความสำเร็จในการวัดระยะเวลาของวันบนดาวเคราะห์ต่างระบบได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยใช้หอดูดาวยุโรปซีกใต้ (อีเอสโอ) และกล้องวีแอลที 
ดาวเคราะห์ที่เป็นข่าวในครั้งนี้คือ ดาวบีตาขาตั้งภาพบี (Beta Pictoris B) เป็นบริวารของดาวบีตาขาตั้งภาพ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่มองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า อยู่ในกลุ่มดาวขาตั้งภาพ อยู่ห่างจากโลก 63 ปีแสง ดาวบีตาขาตั้งภาพบีเคยเป็นข่าวใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่ง ในฐานะที่เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นดวงแรก ๆ ที่ถ่ายภาพติดได้ มีรัศมีวงโคจรรอบดาวแม่ประมาณ หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งถือว่าใกล้ที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ที่ถ่ายภาพติดได้ 
ด้วยการใช้อุปกรณ์ ไครเรส (CRIRES) บนกล้องวีแอลที ทำให้นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเลเดนและสถาบันวิจัยอวกาศเนเทอร์แลนด์วัดอัตราเร็วของพื้นผิวที่บริเวณศูนย์สูตรของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้เกือบ 100,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่ดาวพฤหัสบดีมีความเร็วที่เส้นศูนย์สูตร 47,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โลกของเรามีความเร็วที่เส้นศูนย์สูตรเพียง 1,700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดาวบีตาขาตั้งภาพบีมีขนาดใหญ่กว่าโลก 16 เท่า และหนักกว่าถึง 3,000 เท่า แม้จะมีขนาดใหญ่แต่ก็ยังหมุนรอบตัวเองเร็วมาก จนหนึ่งวันบนดาวเคราะห์ดวงนี้มีระยะเวลาเพียง ชั่วโมงเท่านั้น
ดาวบีตาขาตั้งภาพบีเป็นดาวเคราะห์อายุน้อย เพียง 20 ล้านปี ในขณะที่โลกเรามีอายุถึง 4.5 พันล้านปี เมื่อดาวเคราะห์มีอายุมากขึ้น อุณหภูมิของดาวจะลดลงและดาวก็จะหดเล็กลง ทำให้หมุนรอบตัวเองเร็วขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันก็อาจมีกระบวนการอื่นที่ส่งผลต่ออัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวด้วย เช่นกรณีของโลก ความเร็วในการหมุนรอบตัวเองลดลงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากแรงน้ำขึ้นลงจากดวงจันทร์
ในการวัดครั้งนี้ นักดาราศาสตร์ใช้หลักการเลื่อนดอปเพลอร์มาวัดความเร็วสัมพัทธ์ของพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของดาวเคราะห์ จนได้เป็นอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวออกมา
การที่ดาวบีตาขาตั้งภาพบีหมุนรอบตัวเองเร็วมาก จึงเป็นไปได้ที่ในอนาคตนักดาราศาสตร์อาจสร้างแผนที่พื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ ด้วยหลักการทางสร้างภาพดอปเพลอร์ที่แสดงตำแหน่งของชั้นเมฆหรือแม้แต่พายุบนพื้นผิวดาวได้
ภาพของดาวบีตาขาตั้งภาพบีตามจินตนาการของศิลปิน

ภาพของดาวบีตาขาตั้งภาพบีตามจินตนาการของศิลปิน

ที่มา: