สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วัตถุลึกลับพุ่งชนโลก

วัตถุลึกลับพุ่งชนโลก

20 พ.ย. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา วัตถุลึกลับดวงหนึ่งจากอวกาศได้พุ่งเข้าสู่โลก 

วัตถุนี้มีชื่อว่า ดับเบิลยูที 1190 เอฟ (WT1190F)  ค้นพบโดยโครงการแคทาลินาสกายเซอร์เวย์ของมหาวิทยาลัยแอริโซนาเมื่อปี 2556 คาดว่ามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ เมตร จากการติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุดวงนี้พบว่ามีการตอบสนองต่อลมสุริยะเด่นชัดมาก แสดงว่ามีมวลน้อยมาก อาจมีความหนาแน่นเพียงหนึ่งในสิบของน้ำเท่านั้น การที่วัตถุนี้มีการเคลื่อนที่ระหว่างโลกกับดวงจันทร์ และมีความหนาแน่นต่ำกว่าสะเก็ดดาวทั่วไปมาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ดับเบิลยูที 1190 เอฟ อาจเป็นชิ้นส่วนของจรวดที่เดินทางระหว่างโลกและดวงจันทร์ลำใดลำหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้ในวงโคจร 

วัตถุดวงนี้ตกลงสู่ผิวโลกที่มหาสมุทรอินเดีย ที่ตำแหน่งห่างจากชายฝั่งของประเทศศรีลังกาไปทางใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร เมื่อเวลา 11:50 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่นตรงตามที่คาดการณ์ไว้  แต่สิ่งที่ไม่เป็นไปอย่างที่หลายคนคาดหวังก็คือ ไม่มีใครบนฝั่งของศรีลังกาได้เห็นการตกอันตระการตานี้เลย เนื่องจากในวันเวลาดังกล่าวมีเมฆหนาแน่นปกคลุมทั่วพื้นที่และฝนตก มีเพียงรายงานการได้ยินเสียงโซนิกบูมจากคนบนฝั่งเท่านั้น

หนึ่งในผู้โชคดีเพียงไม่กี่คนก็คือ คณะนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ดาราศาสตร์นานาชาติและองค์การอวกาศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งได้สำรวจปรากฏการณ์นี้จากเครื่องบินที่ดัดแปลงเป็นหอสังเกตการณ์ลอยฟ้า จึงมองเห็นและบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ได้

ดับเบิลยูที 1190 เอฟ ได้พุ่งเข้าสู่บรรยากาศโลกด้วยความเร็ว 40,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและสลายไปในบรรยากาศทั้งหมด ไม่เหลือชิ้นส่วนหลงเหลือให้เก็บมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นวัตถุชนิดใด อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ลอยฟ้าสามารถบันทึกสเปกตรัมของแสงจ้าจากการตกครั้งนี้ได้ด้วยความละเอียดสูง จึงอาจให้เบาะแสถึงที่มาของวัตถุชิ้นนี้ได้

ปัจจุบันองค์การนาซาและอีซาติดตามขยะอวกาศเป็นจำนวนกว่า 500,000 ชิ้นด้วยเรดาร์และกล้องถ่ายภาพ ขยะอวกาศเหล่านี้โคจรรอบโลกด้วยความเร็วสูงถึง 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องมือของสององค์กรนี้ตรวจจับวัตถุที่เล็กถึงระดับ เซนติเมตรได้ ในจำนวนนี้พบว่ามีมากถึง 20,000 ชิ้นที่มีขนาดใหญ่กว่าลูกฟุตบอล แต่ยังมีอีกหลายล้านชิ้นที่มีขนาดเล็กจนตรวจจับไม่ได้  

ในปี 2552 ดาวเทียมสื่อสารเอกชนสัญชาติอเมริกันได้ชนกับดาวเทียมทหารของรัสเซียเหนือน่านฟ้าไซบีเรีย นับเป็นครั้งแรกที่วัตถุมนุษย์สร้างสองชิ้นชนกันในอวกาศ การชนในครั้งนั้นได้ส่งเศษชิ้นส่วนดาวเทียมกว่า 2,200 ชิ้นกระจายไปทั่วบริเวณ

ปัจจุบัน มีการส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นสู่อวกาศปีละ 60-70 ดวง การจราจรในอวกาศจึงแออัดคับคั่งขึ้นทุกวัน โอกาสที่จะชนกันเองย่อมมากขึ้นด้วย และการชนแต่ละครั้งก็จะยิ่งเพิ่มขยะในอวกาศในวงโคจรขึ้นไปอีก 

การศึกษาการเคลื่อนที่และการตกลงสู่บรรยกาศของดับเบิลยูที 1190 เอฟนี้จึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับการทำความเข้าใจการเคลื่อนที่ของขยะอวกาศจนกระทั่งพุ่งเข้าสู่บรรยากาศโลก เพื่อเป็นประโยชน์ในการพยากรณ์การชน และหาวิธีในการหลบเลี่ยงให้แก่ยานอวกาศ

ดับเบิลยูที 1190 เอฟ (WT1190F) กำลังสุกสว่างเป็นเปลวไฟขณะพุ่งเข้าสู่บรรยากาศโลก

ดับเบิลยูที 1190 เอฟ (WT1190F) กำลังสุกสว่างเป็นเปลวไฟขณะพุ่งเข้าสู่บรรยากาศโลก (จาก Astronomy Center/YouTube)

การกระจายของขยะอวกาศรอบโลก

การกระจายของขยะอวกาศรอบโลก (จาก ESA)

ดับเบิลยูที 1190 เอฟ ถ่ายเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 ด้วยกล้อง 2.2 เมตรบนยอดเขามานาเคอาของมหาวิทยาลัยฮาวาย

ดับเบิลยูที 1190 เอฟ ถ่ายเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 ด้วยกล้อง 2.2 เมตรบนยอดเขามานาเคอาของมหาวิทยาลัยฮาวาย (จาก B. Bolin, R. Jedicke, M. Micheli)

ที่มา: