สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เอนเซลาดัสก็มีทะเลใต้พื้นผิว

เอนเซลาดัสก็มีทะเลใต้พื้นผิว

22 มี.ค. 2549
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
    บริวารดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่วงการดาราศาสตร์จับตามองมากที่สุดในขณะนี้  เห็นจะไม่มีดวงไหนเกิน ดวงจันทร์เอนเซลาดัส ของดาวเสาร์ เนื่องจากขณะนี้ยานแคสซีนีกำลังโคจรรอบและสำรวจดาวเสาร์กับบริวารอยู่รวมถึงเอนเซลาดัสด้วย และข้อมูลเบื้องต้นจากแคสซีนีก็พบสิ่งน่าสนใจบนดวงจันทร์นี้หลายด้าน จนวารสาร ไซนซ์ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ตีพิมพ์รายงานการวิจัยหลายฉบับที่เน้นเรื่องของเอนเซลาดัสเป็นพิเศษ

    นักดาราศาสตร์ได้สงสัยมาเป็นเวลานานแล้วว่าดวงจันทร์เอนเซลาดัสอาจเป็นต้นกำเนิดของอนุภาคน้ำที่พบในวงแหวนอีของดาวเสาร์ การสำรวจจากยานแคสซีนีก็ได้สนับสนุนทฤษฎีนี้ นับตั้งแต่ปี 2548 แมกนีโตมิเตอร์ของยานได้พบหลักฐานว่าอาจมีบรรยากาศของผลึกน้ำแข็งห่อหุ้มดวงจันทร์ดวงนี้อยู่ และเชื่อว่าเอนเซลาดัสมีแหล่งน้ำที่เป็นของเหลวอยู่ใต้ผิวลงไปไม่มาก ซึ่งอาจเป็นแหล่งของน้ำพุที่พบในซีกใต้ด้วย

    หลังจากนั้นก็พบว่าที่ซีกใต้ของดวงจันทร์ในบริเวณที่สงสัยว่าจะมีน้ำอยู่ใต้พื้นผิวมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ต่อมาการสังเกตการบังดาวฤกษ์ของเอนซาลาดัสก็ยืนยันว่าดวงจันทร์นี้มีบรรยากาศอยู่จริงเหนือบริเวณดังกล่าว ภาพจากแคสซีนีที่เผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายนก็แสดงชัดเจนว่ามีพวยของน้ำพุพุ่งออกจากพื้นผิวในบริเวณซีกใต้ของดวงจันทร์ พ่นอนุภาคน้ำแข็งออกสู่อวกาศไกลหลายร้อยกิโลเมตร นักดาราศาสตร์เชื่อว่าอนุภาคเหล่านี้น่าจะมาจากแหล่งน้ำที่อยู่ใต้พื้นผิว นั่นแสดงว่าเอนเซลาดัสมีลักษณะเหมือนกับดวงจันทร์ยูโรปาและแกนีมีดของดาวพฤหัสบดีซึ่งมีแหล่งน้ำใต้ดินเหมือนกัน

    แต่ข้อแตกต่างที่สำคัญก็คือ แหล่งน้ำของยูโรปากับแกนีมีดอยู่ลึกลงไปหลายกิโลเมตรใต้พื้นผิวที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง ส่วนแหล่งน้ำของเอนเซลาดัสอาจอยู่ลึกเพียงไม่ถึงสิบเมตรเท่านั้น 

    การค้นพบเหล่านี้ทำให้เอนเซลาดัสเป็นอีกที่หนึ่งที่มีโอกาสค้นพบสิ่งมีชีวิตเช่นกัน สิ่งจำเป็นขั้นต่ำสุดสำหรับสิ่งมีชีวิตประกอบด้วย น้ำ แหล่งกำเนิดความร้อน และอินทรีย์สาร ซึ่งเอนเซลาดัสมีครบ แคสซีนีพบมีเทนและสารประกอบคาร์บอนใกล้ขั้วใต้ นักดาราศาสตร์เชื่อว่าหากมีอยู่จริง สิ่งมีชีวิตบนเอนเซลาดัสอาจเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กแบบเดียวกับที่พบบริเวณปากปล่องไฮโดรเจนที่พบบนโลก

    การค้นพบที่สำคัญก่อนหน้านี้คือ ร่องยาวหลายร่องทางซีกใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งนักดาราศาสตร์เรียกว่า "ลายพาดกลอน" ซึ่งเป็นช่องที่มีไอน้ำจากภายในพุ่งออกมาสูงถึง 430 กิโลเมตรสู่บรรยากาศ สิ่งนี้เป็นการยืนยันชัดเจนว่าใต้พื้นผิวของดวงจันทร์นี้มีน้ำที่เป็นของเหลวอยู่จริง แม้จะยังไม่ทราบว่าแหล่งพลังงานที่ให้ความร้อนแก่ดวงจันทร์และขับให้ไอน้ำพุ่งออกมาคืออะไรก็ตาม

    ยานแคสซีนีจะเฉียดเข้าใกล้ดวงจันทร์เอนเซลาดัสอีกครั้งในปี 2551 ขณะนี้ทางคณะของโครงการได้ปรับเปลี่ยนแผนสำรวจเพื่อเน้นการสำรวจเอนเซลาดัสโดยเฉพาะแล้ว และคาดว่าดวงจันทร์ดวงนี้จะต้องเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการสำรวจของโครงการต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

ดวงจันทร์เอนเซลาดัส

ดวงจันทร์เอนเซลาดัส

ดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์ ถ่ายภาพโดยยานแคสซีนีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ภาพขาวดำทางซ้ายมองเห็นพวยขนาดใหญ่ใกล้ขั้วใต้ของเอนเซลาดัส ส่วนภาพแปลงสีทางขวาแสดงพวยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก (ภาพจาก NASA/JPL/Space Science Institute)

ดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์ ถ่ายภาพโดยยานแคสซีนีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ภาพขาวดำทางซ้ายมองเห็นพวยขนาดใหญ่ใกล้ขั้วใต้ของเอนเซลาดัส ส่วนภาพแปลงสีทางขวาแสดงพวยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก (ภาพจาก NASA/JPL/Space Science Institute)

นักดาราศาสตร์เชื่อว่าใต้พื้นผิวน้ำแข็งของเอนเซลาดัสมีเป็นแหล่งน้ำที่อยู่ในรูปของเหลวอยู่ โดยได้รับความร้อนจากหินร้อนด้านล่าง เมื่อความดันน้ำมากขึ้น น้ำจะแทรกผ่านช่องระบายขึ้นสู่พื้นผิวพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นไอน้ำและละอองน้ำแข็ง (ภาพจาก NASA/JPL/Space Science Institute)

นักดาราศาสตร์เชื่อว่าใต้พื้นผิวน้ำแข็งของเอนเซลาดัสมีเป็นแหล่งน้ำที่อยู่ในรูปของเหลวอยู่ โดยได้รับความร้อนจากหินร้อนด้านล่าง เมื่อความดันน้ำมากขึ้น น้ำจะแทรกผ่านช่องระบายขึ้นสู่พื้นผิวพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นไอน้ำและละอองน้ำแข็ง (ภาพจาก NASA/JPL/Space Science Institute)

ที่มา: