สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ระยะทางของแอนดรอเมดา

ระยะทางของแอนดรอเมดา

15 พ.ย. 2548
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาราจักรแอนดรอเมดา เป็นดาราจักรที่ใหญ่ที่สุดและสว่างที่สุดในกลุ่มดาราจักรท้องถิ่น นักดาราศาสตร์ใช้ประโยชน์จากดาราจักรนี้ในการศึกษาเอกภพในหลายด้าน ด้านหนึ่งคือใช้ในการเทียบมาตรฐานของวิธีการวัดระยะทางของดาราจักร ดังนั้นการทราบระยะทางของดาราจักรนี้ช่วยการวัดระยะทางของดาราจักรอื่นให้แม่นยำขึ้นด้วย ในอดีต นักดาราศาสตร์วัดระยะทางของดาราจักรแอนดรอเมดาโดยวัดระยะทางของดาวบางชนิด ได้แก่ดาวแปรแสงชนิดซีฟิด (Cepheids) และดาวแปรแสงชนิดอาร์อาร์พิณ (RR Lyrae) ซึ่งเป็นดาวที่มีคุณสมบัติเด่นคือมีความส่องสว่างสัมบูรณ์เท่ากันทุกดวง แต่การหาความส่องสว่างสัมบูรณ์ของดาวเหล่านี้ก็ยังต้องขึ้นกับการสำรวจในดาราจักรอื่น

แต่ อิกนาซี รีบัส จากสภาวิจัยแห่งสเปน (ซีเอสไอซี) กับสถาบันศึกษาอวกาศ คาตาโลเนีย (ไออีอีซี) และคณะได้ใช้วิธีใหม่ในการวัดระยะทางของดาราจักรแอนดรอเมดาซึ่งเป็นการวัดที่ตรงกว่า วิธีของเขาคือใช้ดาวคู่อุปราคา ดาวคู่ที่ใช้ในการวัดครังนี้มีชื่อยาวเหยียดว่า เอ็ม 31 วีเจ 00443799+4129236 มีดาวสเปกตรัมโอกับดาวสเปกตรัมบีอย่างละดวง ดาวทั้งคู่นี้โคจรรอบกันด้วยคาบ 3.54969 วัน และมีระนาบโคจรอยู่ในแนวเล็งจากโลกพอดี นักดาราศาสตร์จึงเห็นดาวทั้งคู่ผลัดกันบังขณะที่โคจรรอบกัน

นักดาราศาสตร์ได้ใช้ดาวคู่อุปราคาในการหาระยะทางมานานแล้ว หลักการคือ ช่วงเวลาที่มีการบังกันเป็นตัวแสดงขนาดของดาว ถ้าบังกันนานแสดงว่าดาวยิ่งใหญ่ และถ้าดาวยิ่งใหญ่ก็ยิ่งสว่าง เมื่อทราบขนาดของดาวแต่ละดวงและอุณหภูมิจากสเปกตรัมแล้ว ก็จะทราบความสว่างสัมบูรณ์ (ความสว่างแท้จริง) ด้วย เมื่อเทียบความสว่างสัมบูรณ์กับความสว่างที่ปรากฏ ก็จะหาระยะห่างของดาวคู่นั้นได้

นักดาราศาสตร์คณะของรีบัสสำรวจดาวคู่นี้เป็นเวลา 21 คืน ที่เวลาต่างกัน กินช่วงเวลากว่าสี่ปีด้วยกล้องโทรทรรศน์ไอแซกนิวตันขนาด 2.5 เมตร ที่หมู่เกาะคะเนรี และใช้กล้องเจมิไนเหนือขนาด เมตรในฮาวายในการวัดความเร็วของดาวประกอบด้วย

จากการสำรวจพบ ดาวที่มีสเปกตรัมชนิดโอ มีอุณหภูมิ 33,900 เคลวิน มีมวล 23 มวลสุริยะ และเส้นผ่านศูนย์กลางเป็น 13.1 เท่าของดวงอาทิตย์ อีกดวงหนึ่งซึ่งมีชนิดสเปกตรัมบีมีอุณหภูมิ 27,700 เคลวิน มีมวล 15 มวลสุริยะ เส้นผ่านศูนย์กลาง 11.3 เท่าของดวงอาทิตย์ ดาวทั้งคู่อยู่ใกล้กันมาก ระยะห่างที่จุดศูนย์กลางอยู่ห่างกันเพียง 16.5 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ จนเนื้อดาวบางส่วนจากดวงที่มีสเปกตรัมบีไหลข้ามมาเติมลงบนดาวอีกดวงหนึ่ง และข้อมูลที่สำคัญที่สุดคือ ความสว่างสัมบูรณ์ ดาวทั้งคู่มีความสว่างสัมบูรณ์ 5.29 และ 4.66

จากการเปรียบเทียบความสว่างสัมบูรณ์กับความสว่างปรากฏ คณะของรีบัสสรุปว่าดาราจักรแอนดรอเมดาอยู่ห่างจากโลก 2.52 +/- 0.14 ล้านปีแสง ตัวเลขนี้สอดคล้องตัวเลขที่ได้จากการสำรวจดาวแปรแสงชนิดซีฟิดซึ่งได้ระยะทาง 2.5 ล้านปีแสงเป็นอย่างดี ที่สำคัญ ตัวเลขใหม่นี้เป็นตัวเลขที่ได้โดยไม่ต้องผ่านการประเมินระยะทางของดาราจักรเมฆแมเจลแลนใหญ่ จึงเป็นการวัดระยะทางที่อ้อมน้อยกว่า การที่วิธีหาระยะทางด้วยดาวกับการวัดระยะด้วยดาวแปรแสงชนิดซีฟิดสอดคล้องตรงกัน ทำให้วิธีวัดด้วยดาวแปรแสงชนิดซีฟิดมีความแม่นยำยิ่งขึ้น และอาจนำไปใช้ในการวัดระยะทางของดาราจักรอื่นที่อยู่ไกลมาก ๆ ได้ เช่นดาราจักรที่อยู่ในกระจุกดาราจักรหญิงสาวและกระจุกดาราจักรเตาหลอม

ดาราจักรแอนดรอเมดา ดาราจักรชนิดก้นหอยที่อยู่ใกล้โลกที่สุด

ดาราจักรแอนดรอเมดา ดาราจักรชนิดก้นหอยที่อยู่ใกล้โลกที่สุด

ที่มา: