สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ทะลวงไส้แอนดรอเมดา

ทะลวงไส้แอนดรอเมดา

20 พ.ย. 2548
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาราจักรที่อยู่ใกล้กันหรือที่อยู่กันเป็นระบบที่มีดาราจักรบริวาร มักมีอันตรกิริยาต่อกัน เช่นดาราจักรทางช้างเผือกกับดาราจักรเมฆแมเจนเลนเล็กและเมฆแมเจนเลนก็มีอันตรกิริยาต่อกันจนมีผลต่อรูปร่างและโครงสร้างของแต่ละฝ่าย ส่วนดาราจักรแอนดรอเมดาและดาราจักรบริวารเอ็ม 32 นั้น นักดาราศาสตร์เชื่อว่าน่าจะเป็นระบบที่สงบเงียบมากกว่า มีอันตรกิริยาต่อกันน้อยกว่า

แต่เมื่อไม่นานมานี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ของนาซาได้เปิดเผยว่าดาราจักรแอนดรอเมดาและเอ็ม 32 นี้ก็มีอดีตที่รุนแรงดุเดือดเหมือนกัน

เนื่องจากดาราจักรแอนดรอเมดาเอียงทำมุมกับแนวสายเล็งจากโลก การศึกษาโครงสร้างจึงทำได้ยาก แต่คณะนักดาราศาสตร์นำโดยคาร์ล ดี. กอร์ดอน จากหอดูดาวสจวร์ตได้ใช้อุปกรณ์มิปส์ (MIPS--Multiband Imaging Photometer) ของกล้องสปิตเซอร์ซึ่งมีความไวสูงมาก จึงสามารถถ่ายภาพที่แสดงการกระจายของฝุ่นในดาราจักรอื่นได้อย่างชัดเจน

จากภาพที่ได้จากอุปกรณ์นี้แสดงว่าดาราจักรแอนดรอเมดามีแขนสองแขนและมีวงแหวนของบริเวณกำเนิดดาวที่สว่าง และยังพบว่าวงแหวนนี้มีรอยแยกเป็นสองส่วนที่บริเวณหนึ่ง ทำให้ดูเป็นโพรง นักดาราศาสตร์เชื่อว่า โพรงนี้เป็นแผลเป็นที่เกิดจากดาราจักรเอ็ม 32 พุ่งผ่านไปเมื่อหลายล้านปีก่อน การรบกวนจากการพุ่งชนทำให้เมฆระหว่างดาวกระแทกกัน ก่อให้เกิดดาวดวงใหม่และทำให้เมฆและแก๊สร้อนขึ้น

จากการสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์โดย เจอเรมี เบลิน จากมหาวิทยาลัยสวินเบอร์น ออสเตรเลียก็สนับสนุนว่าเอ็ม 32 เคยพุ่งผ่านแอนดรอเมดามาก่อนเช่นกัน

ภาพชุดนี้ สปิตเซอร์ถ่ายภาพในย่านรังสีอินฟราเรดสามความยาวคลื่น คือ 24, 70 และ 160 ไมครอน ภาพที่แสดงโครงสร้างชัดเจนที่สุดเป็นภาพที่ถ่ายที่ความยาวคลื่น 24 ไมครอน 11,000 ภาพผนวกกัน นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังนำภาพที่ถ่ายทั้งสามความยาวคลื่นมาผนวกกันเพื่อวิเคราะห์อุณหภูมิของฝุ่นอีกด้วย 

ดาราจักรแอนดรอเมดาในย่านความถี่อินฟราเรด  แสดงวงแหวนสว่างและรูโหว่ (ศรชี้) ที่คาดว่าเกิดจากการพุ่งชนของดาราจักรเอ็ม 32 (ภาพจาก NASA/JPL-Caltech/K. Gordon)

ดาราจักรแอนดรอเมดาในย่านความถี่อินฟราเรด แสดงวงแหวนสว่างและรูโหว่ (ศรชี้) ที่คาดว่าเกิดจากการพุ่งชนของดาราจักรเอ็ม 32 (ภาพจาก NASA/JPL-Caltech/K. Gordon)

จากการผนวกภาพที่ถ่ายทั้งสามความยาวคลื่น นักดาราศาสตร์จึงวิเคราะห์อุณหภูมิของแก๊สได้ บริเวณสีขาวและน้ำเงินแสดงส่วนที่ร้อนที่สุด (ถ่ายได้ในช่วงความถี่ 24 ไมครอน) ส่วนสีแดงคือส่วนที่ร้อนน้อยที่สุด (ภาพจาก NASA/JPL-Caltech/K. Gordon)

จากการผนวกภาพที่ถ่ายทั้งสามความยาวคลื่น นักดาราศาสตร์จึงวิเคราะห์อุณหภูมิของแก๊สได้ บริเวณสีขาวและน้ำเงินแสดงส่วนที่ร้อนที่สุด (ถ่ายได้ในช่วงความถี่ 24 ไมครอน) ส่วนสีแดงคือส่วนที่ร้อนน้อยที่สุด (ภาพจาก NASA/JPL-Caltech/K. Gordon)

ที่มา: