สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาราจักรทางช้างเผือกอาจไม่ชนกับแอนดรอเมดา

ดาราจักรทางช้างเผือกอาจไม่ชนกับแอนดรอเมดา

4 มิ.ย. 2568
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาราจักรแอนดรอเมดา เป็นดาราจักรชนิดก้นหอยที่อยู่ใกล้เราที่สุด เรามองเห็นดาราจักรนี้ได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะเป็นปุยรี ๆ เหมือนรังไหม อยู่ในกลุ่มดาวแอนดรอเมดา ในอดีต นักดาราศาสตร์เรียกปุยนี้ว่า เนบิวลาแอนดรอเมดา เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะพบว่ามีลักษณะเป็นขดก้นหอย จึงมีชื่อเรียกกันอีกชื่อว่าเป็นเนบิวลาก้นหอย ในสมัยก่อนศตวรรษที่ 20 วงการดาราศาสตร์ยังไม่เข้าใจโครงสร้างของเอกภพดีนัก ยังไม่ทราบว่า "เนบิวลาแอนดรอเมดา" นี้อยู่ไกลจากโลกเท่าใด จึงเรียกทุกสิ่งที่เป็นปุยมัวบนท้องฟ้าที่ไม่ใช่ดาวหางว่า เนบิวลา เหมือนกันหมด

ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์สูงขึ้น นักดาราศาสตร์รู้วิธีวัดระยะทางของดาวแต่ละดวงได้ จึงทราบว่า แท้จริงแล้วเนบิวลาแอนดรอเมดาเป็นอาณาจักรของดาวฤกษ์อีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลโพ้นออกไปนอกจากอาณาจักรดาวที่เราอยู่ที่เรียกว่าทางช้างเผือก และเรียกแต่ละอาณาจักรของดาวว่า ดาราจักร (galaxy) 

ดาราจักรแอนดรอเมดา  

ในปี พ.ศ. 2455 นักดาราศาสตร์ค้นพบเรื่องสำคัญอีกสิ่งหนึ่งเกี่ยวกับดาราจักรนี้ นั่นคือ ดาราจักรแอนดรอเมดากำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้เรามากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเข้าสู่ยุคของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลวัดการเคลื่อนที่ของดาราจักรแอนดรอเมดาอย่างละเอียด พบว่ามีการเคลื่อนที่ทางแนวขวางน้อยมาก นั่นหมายความว่า นอกจากจะเคลื่อนที่ใกล้เรามากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ยังจะมีทิศทางพุ่งมาหาเราอีกด้วย

ภาพในจินตนาการของท้องฟ้าในอีกสี่พันล้านปีข้างหน้า เมื่อดาราจักรแอนดรอเมดาใกล้จะชนกับดาราจักรทางช้างเผือก ตามข้อมูลเดิมที่ยืนยันว่าดาราจักรเพื่อนบ้านนี้จะชนกับดาราจักรทางช้างเผือก (จาก NASA)

งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี 2555 ของสถาบันกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่อาศัยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ยืนยันว่าแอนดรอเมดาจะพุ่งชนทางช้างเผือกอย่างจังภายในห้าพันล้านปีข้างหน้า 

เมื่อสองดาราจักรชนกัน ผลที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่ความพังพินาศแบบรถชน เพราะดาวแต่ละดวงไม่ได้ชนกันจริง ๆ แต่อันตรกิริยาทางความโน้มถ่วงระหว่างดาราจักรทั้งสองจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่นกระตุ้นให้เกิดการกำเนิดดาวฤกษ์ใหม่อย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้เกิดซูเปอร์โนวา และยังทำให้ดาวฤกษ์ในดาราจักรเปลี่ยนวงโคจรได้ 

หลังจากดาราจักรแอนดรอเมดากับทางช้างเผือกชนกันแล้ว ดาราจักรทั้งสองจะหลอมรวมเป็นดาราจักรเดียว ซึ่งนักดาราศาสตร์ตั้งชื่อให้ล่วงหน้าว่า มิลโกเมดา (Milky Way Andromeda Milkomeda) 

แต่การศึกษาล่าสุดพบว่า มิลโกเมดาอาจไม่ได้เกิดก็ได้ งานวิจัยล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ใช้ข้อมูลการสำรวจที่วัดได้อย่างละเอียดด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและร่วมกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศไออาขององค์การอีซา พบว่าโอกาสที่ดาราจักรยักษ์ทั้งสองจะชนกันไม่มากอย่างที่เคยคิดกัน

คณะสำรวจนี้ประกอบด้วยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอร์แรมในสหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยตูลูสในฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย โดยมี ทิลล์ ซาวาลา นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิเป็นหัวหน้า

นักวิจัยคณะนี้ได้สร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์การเคลื่อนที่ของดาราจักร 100,000 ครั้งโดยปรับเปลี่ยนตัวแปร 22 ตัว  พบว่ามีโอกาสราวครึ่งหนึ่งที่ดาราจักรแอนดรอเมดาจะชนกับดาราจักรทางช้างเผือกภายใน 10,000 ล้านปีข้างหน้า และในจำนวนนี้มีโอกาสประมาณ เปอร์เซ็นต์ที่จะชนกันแบบประสานงาภายใน 4-5 พันล้านปี 

แผนภาพแสดงอนาคตของดาราจักรทางช้างเผือกกับแอนดรอเมดาที่เป็นไปได้สามเส้นทาง ช่องซ้ายบน ดาราจักรทั้งสองวิ่งสวนกันในระยะห่างอย่างปลอดภัย เช่นเดียวกับดาราจักร เอ็ม 81 และ เอ็ม 82 ในภาพนี้ ภาพบนขวา ดาราจักรทั้งสองเฉี่ยวกันจน แม้ไม่ชนกันแต่ก็ส่งแรงโน้มถ่วงรบกวนกันจนโครงสร้างเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับดาราจักรเอ็นจีซี 6786 นี้  ภาพล่าง ดาราจักรทั้งสองชนเข้ากันอย่างจังจนหลอมกลายเป็นดาราจักรเดียวเช่นเดียวกับดาราจักรเอ็นจีซี 520 นี้  (จาก NASA)


การวิจัยนี้ได้คำนึงถึงอิทธิพลของดาราจักรบริวารที่อยู่ข้างเคียงดาราจักรยักษ์ทั้งสองอย่างดาราจักรเอ็ม 33 และ เมฆมาเจลันใหญ่ด้วย ซึ่งพบว่าเมฆมาเจลันใหญ่มีส่วนช่วยดึงทางช้างเผือกให้พ้นจากวิถีการชนเล็กน้อย

ไม่ว่าการชนนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ไม่มีโอกาสที่ลูกหลานเราจะได้เห็น เพราะอีกประมาณหนึ่งพันล้านปีข้างหน้า โลกเราก็จะถูกดวงอาทิตย์เผาจนไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้ และอีกราวห้าพันล้านปีดวงอาทิตย์ของเราเองก็จะดับสูญไป