สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวฤกษ์ย้ายถิ่นในแอนดรอเมดา

ดาวฤกษ์ย้ายถิ่นในแอนดรอเมดา

10 มี.ค. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาราจักรคือ กลุ่มของดาวฤกษ์นับล้านดวงที่เกาะกลุ่มอยู่ด้วยกัน ดวงอาทิตย์ของเราก็เป็นดาวสมาชิกของดาราจักรทางช้างเผือก ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนหลายแสนล้านดาราจักรที่มีอยู่ในเอกภพ 

ดาราจักรไม่ใช่สิ่งที่คงที่เสมอไป หากมีพลวัตที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงที่เป็นที่รู้จักกันดีของดาราจักรคือการกลืนดาราจักร หรือการหลอมดาราจักร  กระบวนการดังกล่าวทำให้ดาราจักรเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันดาราจักรทางช้างเผือกของเราก็กำลังกลืนกินดาราจักรทรงกลมแคระคนยิงธนู ดาราจักรเมฆแมกเจนเลนใหญ่กับเมฆแมกเจนเลนเล็กก็จะเป็นรายต่อไป

ล่าสุด นักดาราศาสตร์จากโนวาแล็บได้สำรวจดาราจักรแอนดรอเมดา ดาราจักรเพื่อนบ้านของเรา พบดาวฤกษ์จำนวนกว่า 7,500 ดวง กำลังเคลื่อนย้ายตำแหน่งในลักษณะที่แสดงว่าดาวกลุ่มนี้เป็นดาวต่างถิ่นจากดาราจักรอื่นที่ถูกแอนดรอเมดากลืนเข้ามาเมื่อราวสองพันล้านปีก่อน

นอกจากการเคลื่อนที่ที่แสดงถึงพลวัตของการกลืนดาราจักรแล้ว สัดส่วนโลหะของดาวฤกษ์ทั้ง 7,500 ดวงนี้ก็สูงกว่าในดาวฤกษ์ส่วนอื่นของดาราจักแอนดรอเมดาอย่างเห็นได้ชัด แสดงว่าดาราจักรที่ถูกกลืนเข้ามาเป็นดาราจักรเก่าแก่

นักดาราศาสตร์จากนาวาแลบของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐพบดาวฤกษ์จำนวนมากในดาราจักรแอนดรอเมดากำลังย้ายถิ่น ดาวที่มีวงสีน้ำเงินล้อมคือดาวที่กำลังเคลื่อนที่ในทิศทางเข้าหาโลก ดาวที่มีวงสีแดงล้อมคือดาวที่กำลังเคลื่อนที่ในทิศทางถอยห่างจากโลก (จาก KPNO/NOIRLab/AURA/NSF/E. Slawik/D. de Martin/M. Zamani)

การค้นพบนี้เกิดจากอุปกรณ์ชื่อว่า เดซี (DESI--Dark Energy Spectroscopic Instrument) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อวัดสเปกตรัมของวัตถุท้องฟ้าหลายสิบล้านดวงโดยเฉพาะดาราจักรและเควซาร์เพื่อนำมาสร้างเป็นแผนที่สามมิติของเอกภพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของพลังงานมืดที่มีต่อการขยายตัวของเอกภพ

หน้าที่ของเดซีคล้ายกับหอสังเกตการณ์ไกอา ต่างกันที่พิสัยของวัตถุที่สำรวจ ไกอาทำแผนที่สามมิติของดาวฤกษ์ในดาราจักรทางช้างเผือก แต่เดซีทำแผนที่ของเอกภพทั้งเอกภพ 

กลดขนาดมหึมาของดาราจักรแอนดรอเมดา
 (จาก NASA, ESA, and E. Wheatley (STScI))


อุปกรณ์ชื่อ เดซี (DESI--Dark Energy Spectroscopic Instrument) ที่ติดอยู่ในกล้องโทรทรรศน์เมยอลล์ที่หอดูดาวแห่งชาติคิตต์พิกในทูซอน แอริโซนา  (จาก By KPNO/NOIRLab/NSF/AURA/T. Slovinský)

ดาราจักรทางช้างเผือกก็ผ่านประสบการณ์แบบเดียวกันมานี้ เมื่อราว 8-10 พันล้านปีก่อน ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในกลดของดาราจักรทางช้างเผือก ก็มีต้นกำเนิดมาจากดาราจักรอื่น การที่กระบวนการกลืนดาราจักรในแอนดรอเมดาเกิดขึ้นผ่านไปเป็นเวลาน้อยกว่าของทางช้างเผือก ย่อมช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษากระบวนการกลืนดาราจักรได้ดีกว่า

นักดาราศาสตร์คณะนี้ยังมีแผนจะดำเนินโครงการใหม่ที่จะใช้เดซีสำรวจดาราจักร แต่คราวนี้จะสำรวจทั่วทั้งดาราจักรเลยทีเดียว

ที่มา: