สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โฉมใหม่ทางช้างเผือก

โฉมใหม่ทางช้างเผือก

29 ส.ค. 2548
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เป็นที่ทราบกันมานานว่า ดาราจักรทางช้างเผือกที่โลกและดวงอาทิตย์อาศัยอยู่นี้ มีรูปร่างเป็นจานแบนและขดแบบก้นหอย ซึ่งเป็นโครงสร้างแบบหนึ่งในหลายแบบของดาราจักร เรียกว่าดาราจักรชนิดก้นหอย ดังภาพวาดที่เห็นกันทั่วไป

แต่นักดาราศาสตร์จำนวนไม่น้อยได้เคยตั้งสมมุติฐานว่าดาราจักรของเราน่าจะมีโครงสร้างเป็นอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ดาราจักรชนิดก้นหอยมีคาน ซึ่งคล้ายกับแบบก้นหอย แต่บริเวณใกล้ใจกลางดาราจักรจะมีสิ่งที่คล้ายคานเป็นแท่งหรือเป็นวงรี แล้วแขนต่าง ๆ ของดาราจักรเชื่อมต่อกับปลายคานเหล่านั้น ทั้งนี้จากหลักฐานหลายอย่างที่ปรากฏ เช่นจากการสังเกตการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์บริเวณใกล้เคียง 

จากการสำรวจครั้งล่าสุดโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ขององค์การนาซา ได้เผยโครงสร้างของทางช้างเผือกอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ให้คำตอบชัดเจนว่ารูปร่างที่แท้จริงของทางช้างเผือกเป็นเช่นไร

การสำรวจครั้งนี้ กล้องสปิตเซอร์ได้สำรวจดาวฤกษ์ราว 30 ล้านดวงในระนาบของดาราจักรเพื่อสร้างเป็นผังการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์บริเวณชั้นในของดาราจักร

กล้องโทรทรรศน์สปิตเซอร์เป็นกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรด จึงสามารถมองทะลุทะลวงม่านฝุ่นอันหนาทึบบริเวณใจกลางทางช้างเผือกได้ ทำให้ทราบถึงการกระจายและการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์บริเวณชั้นในอย่างที่กล้องอื่นทำไม่ได้ เมื่อมีดาวตัวอย่างมาใช้การคำนวณมากขึ้น การสร้างแบบจำลองของดาราจักรก็แม่นยำขึ้นด้วย

แบบจำลองดาราจักรที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่าทางช้างเผือกเป็นดาราจักรชนิดก้นหอยมีคาน เป็นการยืนยันทฤษฎีที่นักดาราศาสตร์เคยเสนอกันมา นอกจากนี้คานของทางช้างเผือกตามแบบจำลองใหม่นี้ยังยาว 27,000 ปีแสง ซึ่งยาวกว่าเดิมที่เคยประมาณไว้ถึง 7,000 ปีแสง คานนี้ทำมุม 45 องศากับแนวเชื่อมระหว่างดวงอาทิตย์ถึงจุดศูนย์กลางดาราจักร

โครงสร้างของดาราจักรทางช้างเผือกจากการสำรวจล่าสุด แสดงว่าดาราจักรของเรานี้มีโครงสร้างเป็นดาราจักรชนิดก้อนหอยมีคาน ไม่ใช่ดาราจักรชนิดก้นหอยธรรมดา คานของดาราจักรทางช้างเผือกมีความยาวประมาณ 27,000 ปีแสง (ภาพจาก NASA/JPL-Caltech/R. Hurt (SSC/Caltech))

โครงสร้างของดาราจักรทางช้างเผือกจากการสำรวจล่าสุด แสดงว่าดาราจักรของเรานี้มีโครงสร้างเป็นดาราจักรชนิดก้อนหอยมีคาน ไม่ใช่ดาราจักรชนิดก้นหอยธรรมดา คานของดาราจักรทางช้างเผือกมีความยาวประมาณ 27,000 ปีแสง (ภาพจาก NASA/JPL-Caltech/R. Hurt (SSC/Caltech))

ที่มา: