สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เริ่มมหกรรมล่าดาวเคราะห์

เริ่มมหกรรมล่าดาวเคราะห์

1 ก.พ. 2542
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ข่าวการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่นอกระบบสุริยะเริ่มจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2542 ที่ผ่านมานี้มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพิ่มขึ้นอีกหลายดวง แต่ข่าวการค้นพบในช่วงนี้กลับพบว่าไม่ธรรมดา เพราะไม่ได้เป็นการค้นพบร่องรอยของดาวเคราะห์โดยการวิเคราะห์สเปกตรัมของดาวแม่ดังเช่นหลาย ๆ ดวงที่ถูกค้นพบมาก่อนหน้านี้ 

ตั้งแต่ปักษ์แรกของปี นักดาราศาสตร์ชาวนิวซีแลนด์กลุ่มหนึ่ง ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ ดาวเคราะห์ดวงนี้มีขนาดอยู่ในช่วงระหว่างโลกถึงดาวเนปจูน อยู่ห่างจากโลก 30,000 ปีแสง การค้นพบคราวนี้ค้นพบโดยวิธีไมโครเลนซิง (microlensing) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีดาวฤกษ์ดวงอื่นมาบังอยู่หน้าดาวเคราะห์ดวงใหม่ และสนามความโน้มถ่วงของดาวฤกษ์ดวงนี้ได้ขยายให้ภาพของดาวเคราะห์ที่อยู่ข้างหลังสว่างขึ้นมาเป็นวงล้อรอบดาวที่มาบัง นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบดาวเคราะห์ด้วยวิธีนี้ 

ดาว HR 4796A ในกลุ่มดาวคนยิงธนู ก็เป็นดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งที่ถูตรวจพบร่องรอยของดาวเคราะห์ ดาวดวงนี้มีลักษณะเด่นตรงที่มีบางสิ่งบางอย่างล้อมรอบตัวดาวอยู่คล้ายกับเป็นจาน แต่เมื่อไม่นานมานี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้สามารถถ่ายภาพดาวดวงนี้ไว้ได้ และพบว่าสิ่งที่คล้ายจานนั้น แท้จริงแล้วเป็นวงแหวนบางที่ล้องรอบตัวดาวฤกษ์อยู่ แหวนนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 21,000 ล้านกิโลเมตร หรือ 140 หน่วยดาราศาสตร์ ในขณะที่วงแหวนมีความกว้างเพียงประมาณ 2.5 ล้านกิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าวงแหวนนี้เป็นวงแหวนที่บางและคมมาก นักดาราศาสตร์จึงสันนิษฐานว่าการที่วงแหวนมีความคมอย่างนี้ น่าจะเกิดจากมีดาวเคราะห์สองดวงขนาบข้างวงแหวนอยู่ข้างละดวง ทำหน้าที่เลี้ยงวัตถุที่อยู่ในวงแหวนให้อยู่ในแนวแคบ ๆ ไม่กระจัดกระจายออกไป ในทำนองเดียวกับดวงจันทร์คนเลี้ยงแกะ (Shepharding Moons) บนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ที่ทำให้วงแหวนของดาวเคราะห์เหล่านั้นมีความคมเช่นกัน เชื่อว่า สาเหตุที่กล้องฮับเบิลมองไม่เห็นดาวเคราะห์ต้องสงสัยคู่นี้น่าจะเป็นเพราะว่ามันมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก บางทีอาจจะมีมวลแต่ละดวงน้อยกว่า 10 เท่าของดาวพฤหัสบดีก็ได้ 

ดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งที่พบว่ามีดาวเคราะห์เป็นบริวารก็คือ HD 141569 อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง ดาวดวงนี้เป็นดาวที่พบว่ามีแผ่นจานฝุ่นล้อมรอบดาวเช่นกัน จากการสำรวจด้วยกล้องฮับเบิล พบว่า จานนี้มีความกว้างประมาณ 59.2 พันล้านกิโลเมตร (400 หน่วยดาราศาสตร์) และพบช่องว่างแคบ ๆ กว้างประมาณ 5.9 พันล้านกิโลเมตรอยู่ในจานนั้น ช่องว่างนี้น่าจะเกิดจากดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาว HD 141569 นี้อยู่ ในขณะนี้แม้กล้องฮับเบิลยังไม่สามารถถ่ายให้เห็นภาพของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ แต่นักดาราศาสตร์หวังว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจได้มีโอกาสเห็นดาวเคราะห์ดวงนี้ได้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ทันสมัยกว่าในปัจจุบันนี้ 

ซ้าย: ภาพถ่ายในย่านรังสีอินฟราเรดโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลแสดงให้เห็นจานฝุ่นที่อยู่รอบ ๆ ดาวฤกษ์สองดวง จานทั้งสองจานนี้มีร่องรอยของการถูก "กวาด" และ "เกลา" โดยแรงดึงดูดจากดาวเคราะห์ที่มองไม่เห็น

ซ้าย: ภาพถ่ายในย่านรังสีอินฟราเรดโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลแสดงให้เห็นจานฝุ่นที่อยู่รอบ ๆ ดาวฤกษ์สองดวง จานทั้งสองจานนี้มีร่องรอยของการถูก "กวาด" และ "เกลา" โดยแรงดึงดูดจากดาวเคราะห์ที่มองไม่เห็น

ที่มา: