สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์ต่างระบบสามดวงกลายเป็นดาวฤกษ์

ดาวเคราะห์ต่างระบบสามดวงกลายเป็นดาวฤกษ์

14 ธ.ค. 2565
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา การค้นหาดาวเคราะห์ต่างระบบก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มีการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่เกิดขึ้นแทบทุกวัน เมื่อเพียงไม่กี่เดือนก่อน ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า จำนวนดาวเคราะห์ต่างระบบที่ค้นพบแล้วมีจำนวนเกิน 5,000 ดวงแล้ว และมีอีกกว่า 8,000 ดวงที่รอการยืนยัน

แต่งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ อาจทำให้ยอดจำนวนดาวเคราะห์ที่พบแล้วต้องลดลงไปสามหรือสี่ดวง

 (จาก NASA)

งานวิจัยฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารแอสโทรโนมิคัลเจอร์นัลเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 นักดาราศาสตร์จากเอ็มไอทีพบว่า ดาวเคราะห์ต่างระบบอย่างน้อยสามดวงที่พบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์อาจต้องถูกถอดชื่อออกจากทำเนียบ เพราะพบว่ามีสมบัติเหมือนดาวฤกษ์มากกว่า

ดาวเคราะห์สามดวงนี้ได้แก่ เคปเลอร์-854 บีเคปเลอร์-840 บีและ เคปเลอร์-699 บี การศึกษาเพิ่มเติมทำให้นักดาราศาสตร์พบว่าสามดวงนี้มีขนาดอยู่ระหว่าง 2-4 เท่าของดาวพฤหัสบดี ซึ่งใหญ่เกินกว่าจะเป็นดาวเคราะห์ 

ดาวเคราะห์ต่างระบบส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่าดาวพฤหัสบดี บางดวงอาจใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีได้ แต่ก็ได้ไม่เกินสองเท่า หากเกินสองเท่าแล้วจะเป็นดาวเคราะห์ไม่ได้ แต่สามดวงนี้ใหญ่เกิน" ประชวัล นิเราลา นักดาราศาสตร์จากเอ็มไอทีอธิบาย 

นอกจากนี้ยังมี "ดาวเคราะห์" อีกดวงหนึ่งคือ เคปเลอร์-747 บี ดวงนี้มีขนาดประมาณ 1.8 เท่าของดาวพฤหัสบดี มีขนาดใกล้เคียงกับดาวเคราะห์ต่างระบบที่ใหญ่ที่สุด แต่ดาวดวงนี้อยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่มาก ปริมาณแสงที่ได้รับน้อยเกินกว่าจะทำให้ดาวดวงนี้มีความสว่างตามที่ปรากฏได้ จึงเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นดาวเคราะห์

การค้นพบครั้งนี้ค่อนข้างจะเป็นความบังเอิญ เพราะเดิมคณะของนิเราลาตั้งใจจะศึกษาดาวเคราะห์ที่มีความบิดเบี้ยวโดยแรงน้ำขึ้นลง 

"ถ้าคุณวางวัตถุสองดวงไว้ใกล้กัน ความโน้มถ่วงจากดวงหนึ่งจะทำให้วัตถุอีกดวงหนึ่งมีรูปร่างรีเหมือนไข่ไก่ ซึ่งการศึกษาความบิดเบี้ยวนี้อาจช่วยให้เราทราบได้ว่าวัตถุที่มากระทำนั้นมีมวลมากน้อยเพียงใด" นิเราลาอธิบาย "เมื่อทราบมวล ก็ทำให้เรารู้ได้ด้วยว่า นั่นจะเป็นระบบดาวฤกษ์-ดาวเคราะห์ หรือดาวฤกษ์คู่"

ด้วยความสามารถของดาวเทียมไกอาขององค์การอีซา จึงทำให้นักดาราศาสตร์วัดขนาดของดาวเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ จนมีข้อมูลมากพอที่จะทำให้ต้องตัดรายชื่อวัตถุที่เคยเข้าใจผิดว่าเป็นดาวเคราะห์ออกไปได้เล็กน้อย