สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์ที่คาบโคจรยาวนานที่สุดของเทสส์

ดาวเคราะห์ที่คาบโคจรยาวนานที่สุดของเทสส์

13 พ.ย. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ระบบสุริยะของดาวทีโอไอ-4600 ภาพในจินตนาการของศิลปิน (จาก Tedi Vick)

สองทศวรรษที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบ หรือดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อย่างเคปเลอร์และกล้องโทรทรรศน์เทสส์ การที่มีตัวอย่างให้ศึกษาจำนวนมาก ทำให้นักดาราศาสตร์พบความจริงข้อหนึ่งว่า ดาวเคราะห์ต่างระบบส่วนใหญ่ต่างจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรามาก เขาพบว่าส่วนใหญ่มีคาบโคจรสั้นมาก โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ครบรอบภายในเวลาไม่กี่วัน มีแม้แต่เป็นชั่วโมง แสดงว่ามีวงโคจรเล็กมาก ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของดาวเคราะห์ต่างระบบที่พบมีคาบโคจรไม่ถึง 50 วัน นั่นหมายความว่ามีวงโคจรเล็กกว่าวงโคจรของดาวพุธ

การค้นพบของกล้องเทสส์เมื่อไม่นานมานี้ ได้พบดาวเคราะห์ต่างระบบดวงหนึ่ง แต่มีสมบัติอยู่ต่างจากดาวเคราะห์ส่วนใหญ่อย่างสิ้นเชิง แทนที่จะเป็นดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์แม่อย่างใกล้ชิด แต่ดาวเคราะห์ดวงนี้มีคาบโคจรนานถึง 482 วัน นับเป็นดาวเคราะห์ที่คาบยาวที่สุดในรรดาดาวเคราะห์ที่เทสส์ค้นพบ

ดาวเคราะห์ดวงนี้ชื่อ ทีโอไอ-4600 ซี เป็นบริวารของดาวทีโอไอ-4600 (TOI-4600) ซึ่งเป็นดาวแคระสเปกตรัมเค  ดาวทีโอไอ-4600 มีหลายชื่อ เช่น ทีไอซี 232608943 (TIC 232608943) และ แมสส์ เจ 17134806+6433581 (2MASS J17134806+6433581) อยู่ห่างจากโลก 815 ปีแสง ในทิศทางของกลุ่มดาวมังกร ทีโอไอ-4600 ซี มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าโลก 9.4 เท่า 

นอกจากมีคาบยาวที่สุดแล้ว ดาวทีโอไอ-4600 ซียังเป็นดาวเคราะห์ที่เย็นที่สุดอีกด้วย คาดว่ามีอุณหภูมิประมาณ 191 เคลวิน ส่วนดาวเคราะห์ดวงในมีอุณหภูมิประมาณ 347 เคลวิน

คาบ 482 วันอาจฟังดูไม่มาก แม้แต่ดาวอังคารยังมีคาบยาวกว่านี้ ยิ่งมองไปที่ดาวเคราะห์ดวงนอกสุดของระบบสุริยะของเราอย่างดาวเนปจูนมีคาบนานถึง 165 ปี แต่ตัวเลข 482 วันนี้ต้องถือว่านานมากสำหรับวิธีการค้นหาที่กล้องเทสส์ใช้ กล้องเทสส์ค้นหาดาวเคราะห์โดยการตรวจจับการผ่านหน้าเช่นเดียวกับกล้องเคปเลอร์ การค้นหาด้วยวิธีนี้มีความไวสูงแต่เอื้อต่อการตรวจจับดาวเคราะห์คาบสั้น ดาวเคราะห์คาบยาวจะตรวจจับได้ยาก การที่พบดาวเคราะห์คาบยาวในระบบสุริยะอื่นจึงเป็นประโยชน์มาก เพราะจะช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้มองเห็นภาพใหญ่ของระบบสุริยะอื่นได้ชัดเจนมากขึ้น 

ผังแสดงขนาดของวงโคจรของดาวเคราะห์ต่างระบบที่พบโดยกล้องเคปเลอร์และกล้องเทสส์ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของดาวเคราะห์ที่พบมีวงโคจรเล็กกว่าวงโคจรของดาวพุธ (จาก NASA JPL-Caltech R. Hurt)

ดาวทีโอไอ-4600 ซี ยังมีดาวเคราะห์ร่วมระบบอีกดวงหนึ่งคือ ทีโอไอ-4600 บี มีขนาดใหญ่กว่าโลก 6.8 เท่า และโคจรด้วยคาบ 83 วัน ทั้งสองดวงนี้น่าจะเป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์คล้ายดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ องค์ประกอบของดาวเคราะห์ดวงในน่าจะเป็นแก๊สกับน้ำแข็ง

ระยะห่างระหว่างดาวเคราะห์ทั้งสอง ใกล้เคียงกับระยะห่างระหว่างดาวพุธกับดาวอังคาร จึงเชื่อว่าน่าจะมีดาวเคราะห์ในระบบสุริยะแห่งนี้มากกว่าสองดวง เป็นไปได้ทั้งดวงที่ใกล้ดาวฤกษ์มากกว่าหรือไกลดาวฤกษ์มากกว่าสองดวงนี้