สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อัลบั้มแรกของจันทรา

อัลบั้มแรกของจันทรา

1 ก.ย. 2542
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
องค์การนาซาได้เปิดเผยภาพถ่ายชุดแรกจากสถานีสังเกตการณ์จันทราต่อสื่อมวลชนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นภาพของซากจากซูเปอร์โนวาและภาพของเควซาร์อันไกลโพ้น 

ภาพแรกคือภาพของ แคสซิโอเปีย เอ (Cassiopeia A) เป็นซากของซูเปอร์โนวาที่เกิดขึ้นในดาราจักรทางช้างเผือกเมื่อประมาณ 320 ปีก่อน 

ก่อนหน้านี้ ภาพของแคสซิโอเปีย เอ ที่ถ่ายในย่านรังสีเอกซ์ด้วยกล้องอื่น มองเห็นเป็นเพียงเมฆมัว ๆ เท่านั้น แต่ภาพที่ถ่ายได้จากจันทราในครั้งนี้มีความคมชัดมากกว่ามาก โดยสถานีสังเกตการณ์จันทราใช้เวลาถ่ายภาพนี้เพียง 90 นาทีเท่านั้น รังสีเอกซ์ของแคสซิโอเปีย เอ เกิดจากมวลสารที่ถูกแรงระเบิดจากซูเปอร์โนวาผลักออกมาและชนกับมวลสารในอวกาศที่มีอยู่ก่อนแล้ว ความร้อนที่เกิดจากการชนนี้สูงถึง 50 ล้านองศาเซลเซียส จึงเปล่งรังสีเอกซ์ออกมาอย่างรุนแรง 

ภาพจากสถานีสังเกตการณ์จันทรายังแสดงถึงการควบแน่นของสสารที่ใจกลางของซากดาวแคสซิโอเปีย เอ อีกด้วย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ 

อีกภาพหนึ่งเป็นภาพของเควซาร์ PKS 0637-752 อยู่ห่างจากโลกถึง 6,000 ล้านปีแสง นักดาราศาสตร์คาดหมายก่อนหน้านี้ว่าภาพของเควซาร์นี้น่าจะได้ออกมาเป็นจุด ไม่มีลักษณะพิเศษใด ๆ แต่ภาพจากจันทรากลับแสดงภาพของลำของก๊าซพุ่งเป็นทางยาวไม่น้อยกว่า 200,000 ปีแสงจากเควซาร์ 

ภาพสองภาพนี้ถ่ายโดย Advanced CCD Imaging Spectrometer (ACIS) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์หลักของจันทรา จันทรายังมีอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งคือ กล้อง HRC (High Resolution Camera) ซึ่งสามารถให้ความละเอียดของภาพสูงกว่า ACIS กล้องนี้จะถูกใช้งานในเร็ว ๆ นี้ 

เพียงไม่กี่วันหลังจากที่สองภาพแรกถูกเผยแพร่ ข้อมูลทางสเปกตรัมจากจันทราก็ถูกเปิดเผยตามมา เป็นภาพของการเปล่งรังสีเอกซ์ของคอโรนาจากดาวคาเพลลาที่ถ่ายโดยสเปกโทรมิเตอร์ HETG (High Energy Transmission Grating) 

นักดาราศาสตร์ที่ได้ชมผลงานของจันทราในครั้งนี้ต่างแสดงความปิติยินดีกันถ้วนหน้า เพราะความสำเร็จของสถานีสังเกตการณ์จันทราจะเป็นก้าวกระโดดอันยิ่งใหญ่ในการศึกษาเอกภพ ความเร้นลับจากอวกาศอีกมากมายที่นักดาราศาสตร์เฝ้ารอกำลังจะถูกเปิดเผยโดยสถานีสังเกตการณ์ลอยฟ้าแห่งใหม่นี้ 

ชื่อของสถานีสังเกตการณ์จันทราตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ สุบรามาเนียน จันทรเสกขา นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์รางวัลโนเบล ส่วนโครงการจันทราบริหารโดยศูนย์การบินอวกาศมาแชลของนาซา 

ภาพชุดแรกที่ถ่ายด้วยสถานีสังเกตการณ์จันทรา (ซ้าย) แคสซิโอเปีย เอ ซากหลงเหลือจากซูเปอร์โนวาที่เกิดในราวปี ค.ศ. 1680 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 10,000 ปีแสง มีความกว้างประมาณ 10 ปีแสง นักดาราศาสตร์คาดว่าจุดเล็ก ๆ ที่อยู่กลางภาพคือดาวนิวตรอน (ขวา) เควซาร์ PKS 0637-752 ในกลุ่มดาวภูเขา ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์คาดว่าภาพถ่ายเควซาร์น่าจะเป็นภาพของแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ที่เป็นจุดธรรมดา แต่กล้องของจันทราสามารถถ่ายภาพของลำแสงของพลังงานที่ยาวถึง 200,000 ปีแสงออกจากจุดของเควซาร์

ภาพชุดแรกที่ถ่ายด้วยสถานีสังเกตการณ์จันทรา (ซ้าย) แคสซิโอเปีย เอ ซากหลงเหลือจากซูเปอร์โนวาที่เกิดในราวปี ค.ศ. 1680 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 10,000 ปีแสง มีความกว้างประมาณ 10 ปีแสง นักดาราศาสตร์คาดว่าจุดเล็ก ๆ ที่อยู่กลางภาพคือดาวนิวตรอน (ขวา) เควซาร์ PKS 0637-752 ในกลุ่มดาวภูเขา ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์คาดว่าภาพถ่ายเควซาร์น่าจะเป็นภาพของแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ที่เป็นจุดธรรมดา แต่กล้องของจันทราสามารถถ่ายภาพของลำแสงของพลังงานที่ยาวถึง 200,000 ปีแสงออกจากจุดของเควซาร์

ที่มา: