สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เบเทลจุสหรี่แสงอีกแล้ว

เบเทลจุสหรี่แสงอีกแล้ว

15 มี.ค. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
หลังจากที่ดาวเบเทลจุสได้กลับมามีความสว่างเป็นปกติหลังจากที่หรี่แสงไปครั้งใหญ่เมื่อช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 เมื่อต้นปี 2567 ดาวดวงนี้ก็เริ่มแสดงอาการหรี่แสงอย่างผิดสังเกตอีกครั้ง

ภาพถ่ายดาวเบเทลจุส ถ่ายโดยเครือข่ายกล้องวิทยุกล้องอัลมา   (จาก ALMA (ESO NAOJ NRAO) E. O’Gorman P. Kervella)


ดาวเบเทลจุส เป็นดาวสว่างเป็นอันดับสองของกลุ่มดาวนายพราน และสว่างเป็นอันดับสิบของทั้งฟ้า มีอันดับความสว่าง 0.4 ใกล้เคียงกับดาวโพรซีออน 

การที่ดาวเบเทลจุสมีความสว่างเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะดาวดวงนี้เป็นดาวประเภทดาวแปรแสง หมายความว่ามีความสว่างผันแปรอยู่เสมอ ดาวเบเทลจุสมีมีความสว่างขึ้นลงเป็นคาบด้วยคาบประมาณ 400 วัน 

แต่ตั้งแต่ต้นปี 2567 นักดาราศาสตร์เริ่มสังเกตได้ว่า ดาวดวงนี้เริ่มหรี่แสงลงอีกอย่างผิดสังเกตอีกแล้ว นับจากเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ความสว่างลดลงไปราว 0.5 อันดับ ซึ่งนับเป็นช่วงที่ดาวดวงนี้มีความสว่างน้อยที่สุดนับจากที่พ้นช่วงหรี่แสงครั้งใหญ่เมื่อสองปีก่อนมา 

การหรี่แสงครั้งใหญ่ในปี 2562-2563 นักดาราศาสตร์สรุปว่าเกิดจากดาวเบเทลจุสได้คายแก๊สก้อนใหญ่ออกมาเป็นปริมาณมากกว่า 400 พันล้านตัน ต่อมาแก๊สก้อนนั้นเย็นตัวลงก็เริ่มกลายเป็นม่านฝุ่นทึบแสงซึ่งบดบังผิวดาวเบเทลจุสบางส่วนไป คนบนโลกจึงมองเห็นว่าดาวหรี่แสงลงไป หลังจากนั้นม่านฝุ่นดังกล่าวก็กระจายออกไป แสงจากดาวจึงไม่ถูกบังอีกต่อไป ความสว่างของดาวเบเทลจุสจึงกลับสู่ภาวะปกติ นักดาราศาสตร์ตรวจพบซิลิคอนมอนอกไซด์ในฝุ่นบริเวณรอบดาวเบเทลจุส ซึ่งเป็นสารประกอบที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างเม็ดฝุ่นรอบดาว 

กราฟความสว่างของดาวเบเทลจุสตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562- มีนาคม 2566 แสดงความสว่างที่ผันแปรเป็นรายคาบ รวมถึงการหรี่แสงครั้งใหญ่ด้วย  (จาก AAVSO)


ดาวเบเทลจุสปัจจุบันอยู่ในสถานะดาวยักษ์แดง และอยู่ในช่วงของการผลาญคาร์บอน ซึ่งเป็นสถานะสุดท้ายก่อนที่จะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา แม้ดาวเบเทลจุสจะใกล้จะระเบิด แต่ก็เป็นการยากที่ระบุเวลาที่แน่ชัดว่าจะระเบิดเมื่อใด นักดาราศาสตร์เคยประเมินไว้ว่าดาวดวงนี้จะเป็นซูเปอร์โนวาใน 100,000 ปีข้างหน้า แต่การศึกษาระยะหลังเริ่มให้ตัวเลขนี้ลดลง บ้างก็กล่าวว่าอาจอยู่ระดับเป็นพันปีหรือแม้แต่ระดับสิบปี

อย่างไรก็ตาม การหรี่แสงของดาวเบเทลจุสในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมาดูจะมาจากสาเหตุอื่นที่ต่างไปจากเมื่อปี 2562-2563 ซึ่งยังต้องศึกษาอย่างใกล้ชิดต่อไป 

ที่มา: