สมาคมดาราศาสตร์ไทย

รังสีคอสมิกอาจเป็นอันตรายน้อยกว่าที่คิด

รังสีคอสมิกอาจเป็นอันตรายน้อยกว่าที่คิด

23 ธ.ค. 2550
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
รังสีคอสมิก เป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักบินอวกาศที่ต้องเดินทางหรือการใช้ชีวิตในอวกาศเป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นรังสีคอสมิกเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และมีอำนาจทะลุทะลวงชุดอวกาศและยานอวกาศได้ แต่จากการคำนวณและการทดลองใหม่พบว่า อันตรายจากรังสีคอสมิกอาจมีเพียงครึ่งหนึ่งของที่นาซาเคยประมาณไว้

การทดลองนี้ถือว่าเป็นการจำลองรังสีในอวกาศที่ดีที่สุดในอเมริกา ทำกันที่ห้องทดลองแห่งชาติบรูกเฮเวน เครื่องเร่งอนุภาคจะยิงโปรตอน เหล็ก และธาตุในอวกาศชนิดอื่นออกไปเป็นลำเข้าไปในอุโมงค์ยาว 100 เมตรที่ปลายทางมีเซลของมนุษย์และหนูวางไว้ หลังจากนั้นจึงสำรวจความเสียหายทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นจากการยิงรังสี

ผลจากทดสอบเบื้องต้นได้แสดงสิ่งน่าสนในบางอย่าง นั่นคือ ยิ่งโปรตอนมีพลังงานน้อย ความเสียหายต่อเนื้อเยื่อจะยิ่งรุนแรง นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะโปรตอนที่พลังงานต่ำจะวิ่งช้า จึงมีเวลาที่จะทำอันตรกิริยากับเนื้อเยื่อนานกว่า นอกจากนี้การทดลองในรูปแบบอื่นที่กระทำต่อร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์ก็แสดงว่ารังสีทำอันตรายต่อปอด หน้าอก และระบบโลหิตน้อยกว่าที่เคยคิดไว้

หากการทดลองนี้ถูกต้อง ย่อมเป็นผลดีต่อภารกิจอวกาศในอนาคตโดยเฉพาะการสำรวจดาวอังคารโดยมนุษย์ เพราะนักบินอวกาศจะไม่จำเป็นต้องพึ่งยาต้านรังสีอีกต่อไป ยาต้านรังสีอาจเป็นเพียงของใช้เฉพาะกรณีเท่านั้น 



แม้รังสีคอสมิกจะทะลุชุดนักบินอวกาศได้ แต่อาจเป็นภัยต่อนักบินอวกาศไม่มากอย่างที่เคยคิด (ภาพจาก Johnson Space Center)

แม้รังสีคอสมิกจะทะลุชุดนักบินอวกาศได้ แต่อาจเป็นภัยต่อนักบินอวกาศไม่มากอย่างที่เคยคิด (ภาพจาก Johnson Space Center)

ที่มา: