สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แผนส่งมนุษย์พิชิตดวงจันทร์ของจีน

แผนส่งมนุษย์พิชิตดวงจันทร์ของจีน

22 ก.ค. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่ไม่มีใครส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์นับจากเสร็จสิ้นโครงการอะพอลโล แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจเห็นมนุษย์กลับไปเดินบนดวงจันทร์อีกครั้ง ไม่เพียงแต่มนุษย์อวกาศจากนาซาเท่านั้น เราอาจได้เห็นมนุษย์อวกาศจีนลงไปเดินบนดวงจันทร์ในเวลาไล่เลี่ยกันด้วย

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในการประชุมการบินและอวกาศพานิชย์แห่งชาติจีนครั้งที่ ที่เมืองอู่ฮั่น ตัวแทนจากองค์การมนุษย์อวกาศจีน (CMSA--China Manned Space Agency) ได้กล่าวถึงแผนการของจีนที่จะดำเนินโครงการสำรวจดวงจันทร์โดยใช้มนุษย์ นั่นคือการนำมนุษย์ไปเดินบนดวงจันทร์นั่นเอง หากทำได้สำเร็จ จีนก็จะเป็นชาติที่สองต่อจากสหรัฐอเมริกาที่ทำได้

ภารกิจนำมนุษย์ไปดวงจันทร์ของจีนโดยทั่วไปคล้ายอาร์เทมิส ขององค์การนาซา ขณะนี้นาซากำลังสร้างยานโอไรอันสำหรับลูกเรือเดินทางจากโลกไปดวงจันทร์ และสร้างยานสตาร์ชิปเอชแอลเอสสำหรับนำลงดวงจันทร์ โดยทั้งสองลำต่างฝ่ายต่างเดินทางด้วยจรวดคนละลำ แล้วไปพบกันที่วงโคจรรอบดวงจันทร์ หลังจากนั้นมนุษย์อวกาศก็จะย้ายเข้าไปในยานเอชแอลเอสเพื่อนำลงดวงจันทร์ เมื่อภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์เสร็จสิ้นแล้ว มนุษย์อวกาศจะนั่งยานสตาร์ชิปเอชแอลเอสกลับขึ้นไปที่วงโคจรเพื่อเชื่อมต่อกับยานโอไรอันอีกครั้ง แล้วย้ายกลับมาอยู่ในยานโอไรอันเพื่อมุ่งหน้ากลับสู่โลก ภารกิจนี้คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2568 

โครงการของจีนจะใช้จรวดสองลำเช่นกัน จรวดที่ใช้คือจรวดลองมาร์ช-10 ลำหนึ่งบรรทุกยานลงจอด อีกลำหนึ่งบรรทุกลูกเรือ ทั้งสองลำจะไปพบกันและเชื่อมต่อกันในวงโคจรรอบดวงจันทร์ จากนั้นมนุษย์อวกาศก็จะย้ายเข้าไปในยานลงจอด และแยกตัวลงจอดบนดวงจันทร์ หลังจากภารกิจภาคพื้นดินแล้ว มนุษย์อวกาศก็จะนั่งยานลงจอดกลับขึ้นไปหายานลำเดิมที่มาจากโลกเพื่อใช้เดินทางกลับสู่โลก

แบบเสนอของยานลงดวงจันทร์ของจีนที่จะใช้ในภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์  (จาก China Manned Space Engineering Office)


แผนผังห้องทดลองบนดวงจันทร์ของจีน (จาก China Manned Space Engineering Office)

จรวดลองมาร์ช-10 เป็นจรวดขนส่งในชั้นบรรทุกหนักมากของจีน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา จรวดรุ่นนี้เป็นจรวดสามตอน จรวดลำแกนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง เมตร โครงสร้างคล้ายฟัลคอนเฮฟวี นั่นคือมีจรวดแกนหนึ่งลำและจรวดเสริมสองลำขนาบข้าง จะเป็นจรวดใช้ซ้ำโดยสมบูรณ์ ใช้เครื่องยนต์วายเอฟ-100 เค 21 เครื่อง มีน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 70 ตันที่วงโคจรใกล้โลก 

ยานสำหรับลูกเรือที่จะใช้ในภารกิจนี้ เป็นยานรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาและยังไม่ได้ตั้งชื่อ จีนได้พัฒนายานรุ่นนี้มาตั้งแต่ปี 2559 ยานรุ่นใหม่นี้เป็นทรงกรวยสูงหัวตัด มีสองมอดูลหลัก จุลูกเรือได้ คนและอาจมากถึง คน ยานนี้ได้ผ่านการทดสอบนำขึ้นสู่อวกาศไปแล้วเมื่อปี 2563 โดยเป็นการทดสอบโล่กันความร้อนและระบบร่มชูชีพ นอกจากจะใช้เป็นยานขนส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์แล้ว ยังจะใช้ในการขนส่งระหว่างโลกกับสถานีเทียนกงแทนยานเสินโจว นอกจากนี้ยังอาจใช้ในกิจการด้านการท่องเที่ยวอวกาศอีกด้วย 

ยานอวกาศมีลูกเรือในอนาคตของจีน ลำนี้เป็นยานทดสอบหลังจากกลับมาจากวงโคจรในปี 2563  (จาก CCTV)

แบบจำลองของยานอวกาศรุ่นต่อไปของจีน ซึ่งจะใช้ในการขนส่งมนุษย์อวกาศไปดวงจันทร์และไปสถานีอวกาศเทียนกง ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจีน (จาก Wikimedia Commons.)

แผนสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตของจีนอย่างคร่าว ๆ คือ ในปี 2567 ภารกิจฉางเอ๋อ จะไปดวงจันทร์เพื่อนำตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์กลับมายังโลก ในปี 2569 ฉางเอ๋อ จะไปจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์เพื่อหาหลักฐานของน้ำ ทั้งการเก็บตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์และการนำยานลงจอดที่ขั้วใต้ล้วนเป็นภารกิจที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือโซเวียต

ในปี 2571 ภารกิจฉางเอ๋อ จะทำงานร่วมกับฉางเอ๋อ ในการสร้างสถานีทดลองที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ และดำเนินการสำรวจทรัพยากร คาดว่าสถานีนี้จะสร้างเสร็จก่อนสิ้นปี 2574 และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ก่อนที่สถานีนี้จะสร้างเสร็จ มนุษย์อวกาศจีนก็ได้ไปเดินบนดวงจันทร์ได้แล้ว