สมาคมดาราศาสตร์ไทย

นักเดินทางในอวกาศเสี่ยงตายจากโรคหัวใจ

นักเดินทางในอวกาศเสี่ยงตายจากโรคหัวใจ

4 ส.ค. 2559
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
หลายคนคงเคยไฝ่ฝันว่าถ้าได้ท่องอวกาศสักครั้งหนึ่งในชีวิตก็คงดี จะได้ไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์บนดวงจันทร์ ไปเล่นสกีบนขั้วดาวอังคาร หรือไปชมวงแหวนดาวเสาร์ใกล้ ๆ 

แต่ช้าก่อน ทราบหรือไม่ว่าการเดินทางไปในอวกาศมีผลข้างเคียงด้านลบต่อสุขภาพหลายอย่าง 

ในอวกาศเป็นที่อันตราย นักบินอวกาศที่เดินทางออกจากโลกไปไกล ๆ เป็นการเอาร่างกายออกไปรับรังสีคอสมิกจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นรังสีคอสมิกจากดาราจักร รังสีคอสมิกจากดวงอาทิตย์ รวมถึงอนุภาคที่วิ่งวนอยู่ในแถบรังสีแวนอัลเลน อนุภาคเหล่านี้สามารถวิ่งทะลุชุดอวกาศเข้ามายังเนื้อเยื่อของร่างกายจนทำลายโครงสร้างของดีเอ็นเอได้เลยทีเดียว ยิ่งใช้เวลาในอวกาศนานเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็ยิ่งมากขึ้น

โลกเรามีเกราะคุ้มกันรังสีคอสมิกหลายชั้น ทั้งจากสนามแม่เหล็ก และบรรยากาศ สิ่งมีชีวิตบนโลกจึงปลอดภัยจากรังสีอันตรายดังกล่าว แต่หากใครก็ตามที่เดินทางออกไปพ้นแมกนีโทสเฟียร์ของโลกซึ่งเป็นเขตที่อยู่ในอิทธิพลของสนามแม่เหล็กโลก ย่อมหมายถึงเอาตัวเองไปรับรังสีอันตรายเหล่านั้นโดยตรง 

ในประวัติศาสตร์ มีมนุษย์ที่เคยไปออกไปไกลถึงเขตแดนนั้น 24 คน ซึ่งก็คือนักบินอวกาศในโครงการอะพอลโลที่พามนุษย์ไปถึงดวงจันทร์ ร่างกายของคนเหล่านี้อาจบอกอะไรได้ว่าเขาได้ผ่านอะไรมาบ้าง

ไมเคิล เดลป์ จากมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตตและคณะพบว่านักบินอวกาศที่เคยไปดวงจันทร์มีโอกาสตายด้วยโรคหัวใจมากกว่าคนอื่น ๆ ในอาชีพเดียวกันหลายเท่า

วิจัยนี้เริ่มจากการเปรียบเทียบประวัติด้านสุขภาพของนักบินอวกาศสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือนักบินในโครงการอะพอลโลที่ได้ไปเยือนดวงจันทร์ กลุ่มที่สองคือนักบินอวกาศที่เคยเป็นตัวเลือกที่จะได้ไปดวงจันทร์ซึ่งผ่านการฝึกเหมือนคนกลุ่มแรกแต่ไม่ได้ไป กลุ่มที่สามคือนักบินอวกาศที่เคยปฏิบัติภารกิจในอวกาศเฉพาะที่ระดับวงโคจรต่ำ 

จากสถิติพบว่า นักบินอวกาศในโครงการอะพอลโอที่ไม่เคยขึ้นอวกาศมีอัตราตายจากโรคหัวใจ เปอร์เซ็นต์ นักบินอวกาศที่เคยปฏิบัติภารกิจในอวกาศเฉพาะที่วงโคจรต่ำมีอัตราตายจากโรคหัวใจ 11 เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับคนวาสนาดีที่ได้ไปถึงดวงจันทร์มีอัตราตายจากโรคนี้ 43 เปอร์เซ็นต์ หรือสูงกว่าถึงห้าเท่า 

ก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพของนักบินอวกาศมาก่อน แต่ไม่เคยมีการเอาบุคคลที่ฝึกเป็นนักบินอวกาศแต่ไม่ได้ขึ้นสู่อวกาศมาร่วมวิเคราะห์ด้วย การวิจัยนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้บุคคลกลุ่มดังกล่าวมาร่วมเปรียบเทียบซึ่งใช้เป็นฐานอ้างอิงที่ดีกว่าการเทียบกับคนเดินถนนทั่วไป

"นี่เป็นหลักฐานแรกที่แสดงว่าการเดินทางในอวกาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะต่อระบบหัวใจและหลอดเหลือด" เดลป์กล่าว

นายแพทย์ริชาร์ด ฮัฟสัน แพทย์ด้านหัวใจและหลอดเลือดผู้ไม่ได้อยู่ในคณะวิจัยนี้กล่าวว่า เป็นสมมุติฐานที่น่าสนใจมาก ก่อนหน้านี้ตนได้เคยศึกษาผลกระทบจากการเดินทางในอวกาศต่อหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน พบว่ากลไกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการอยู่ในวงโคจรระดับต่ำส่วนใหญ่จะหายไปหลังจากกลับสู่พื้นโลก แต่ผลจากการอาบรังสีดูจะตกค้างอยู่เป็นเวลานาน 

ไม่เพียงแต่การวิเคราะห์ประวัติสุขภาพนักบินอวกาศเท่านั้น งานวิจัยฉบับนี้ยังมีการทดสอบกับหนูทดลองด้วย โดยนำหนูทดลองจำนวนหนึ่งมาอาบรังสีในระดับใกล้เคียงกับที่นักบินอวกาศอะพอลโลได้รับขณะอยู่ในอวกาศ อีกส่วนหนึ่งให้อยู่ในสภาพจำลองภาวะไร้น้ำหนัก อีกส่วนหนึ่งต้องเผชิญกับภาวะทั้งสองอย่าง ผลพบว่าทั้งหนูที่ผ่านการอาบรังสีและหนูที่ผ่านการจำลองสภาพไร้น้ำหนักอย่างใดอย่างหนึ่งมีความเสียหายเกี่ยวกับหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของหัวใจวายและเส้นเลือดในสมองแตก ส่วนหนูที่ผ่านทั้งการอาบรังสีและสภาพไร้น้ำหนักยิ่งมีความเสียหายร้ายแรงกว่า หลังจากผ่านสภาพจำลองอวกาศไปแล้ว 6-7 เดือน ซึ่งเดลป์กล่าวว่าเป็นระยะเวลาเทียบเท่ากับ 20 ปีในอายุขัยมนุษย์ พบว่ามีเพียงหนูที่ผ่านการอาบรังสีเท่านั้นที่ยังมีความเสียหายในหลอดเลือดหลงเหลืออยู่

"นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการอาบรังสีอยู่ในอวกาศเป็นเวลานานเท่านั้นจึงจะเป็นอันตราย แต่การศึกษาครั้งนี้ชี้ว่าแม้การเดินทางที่กินเวลาเพียงสองสัปดาห์ก็เป็นอันตรายแล้ว" เดลป์กล่าว 

ขณะนี้องค์การอวกาศจากนานาชาติเริ่มตั้งเป้าหมายใหม่ไปที่การส่งคนไปเยือนยังที่ไกลกว่าที่เคยไป เช่นดาวอังคาร รวมถึงการกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง งานวิจัยฉบับนี้จะช่วยเตือนให้องค์การอวกาศต้องทบทวนให้ดี รวมถึงวางระบบป้องกันนักบินให้แน่นหนารัดกุมยิ่งกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของเดลป์ฉบับนี้ได้รับการวิจารณ์ทางลบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจำนวนของกลุ่มตัวอย่าง ตัวเลข 43 เปอร์เซ็นต์ที่แสดงถึงอัตราตายด้วยโรคหัวใจของนักบิวอวกาศที่เคยไปดวงจันทร์ได้มาจากจำนวนสามในเจ็ดคนซึ่งถือว่ายังน้อยเกินกว่าจะมาใช้อ้างอิงได้ นอกจากนี้ยังขาดข้อมูลสำคัญด้านอื่นที่ควรนำมาประกอบอีก เช่นพฤติกรรมอื่นของนักบินอวกาศที่ตาย 

"ถ้าจะให้ได้คำตอบที่แน่นอน นักบินอวกาศที่เดินทางไปดวงจันทร์ในอนาคต จำเป็นต้องทดสอบการทำงานหลอดเลือดของตนเองด้วย จะได้รู้กันกระจ่างไปเลย" นายแพทย์อัฟสันเสริมทิ้งท้าย
นักบินอวกาศในโครงการอะพอลโลที่ไปไกลถึงดวงจันทร์ต้องเผชิญกับรังสีอันตรายจากห้วงอวกาศ <wbr>ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด<br />
<br />

นักบินอวกาศในโครงการอะพอลโลที่ไปไกลถึงดวงจันทร์ต้องเผชิญกับรังสีอันตรายจากห้วงอวกาศ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

(จาก NASA)

ที่มา: