สมาคมดาราศาสตร์ไทย

หลักฐานของหลุมดำปานกลาง

หลักฐานของหลุมดำปานกลาง

12 เม.ย. 2546
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปัจจุบันนักดาราศาสตร์รู้จักและค้นพบหลุมดำมาแล้วหลายดวง หลุมดำเท่าที่ค้นพบมาพอจะแบ่งออกเป็นสองชนิดใหญ่ ๆ ตามมวลคือ หลุมดำยักษ์ ซึ่งมีมวลหลายล้านหรือถึงหลายพันล้านเท่าของดวงอาทิตย์ อยู่ตามใจกลางของดาราจักรต่าง ๆ อีกชนิดหนึ่งคือหลุมดำมวลดาวฤกษ์ ซึ่งมีมวลเพียงไม่กี่เท่าของดวงอาทิตย์ 

แต่หลุมดำที่มีมวลระหว่างสองกลุ่มนี้ หรือมีมวลอยู่ในช่วงเป็นร้อยหรือเป็นพันเท่าของมวลดวงอาทิตย์นั้นยังไม่มีใครเคยพบมาก่อน แม้จะเคยมีการพบหลักฐานบ้าง แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งอยู่มากจนยังไม่อาจยืนยันได้แน่ชัด 

ในที่ประชุมของภาคฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูงของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันที่ควิเบกเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์สองคณะได้เสนอหลักฐานบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

โครงการทั้งสองเป็นโครงการสำรวจแหล่งรังสีเอกซ์ที่เรียกว่า ยูแอลเอกซ์ (ULX--Ultraluminous X-ray source) ซึ่งอยู่กระจัดกระจายอยู่ตามดาราจักรใกล้เคียง แหล่งกำเนิดเล็กจิ๋วเหล่านี้คาดว่าเกิดจากสสารในจานพอกพูนมวล (accreation disc) ไหลวนเข้าสู่หลุมดำ ยูแอลเอกซ์มีความสว่างมาก นักดาราศาสตร์บางคนเชื่อมานานว่านี่เป็นหลักฐานของจานพอกพูนมวลที่ล้อมรอบหลุมดำที่มีมวลเป็นพันเท่าของมวลดวงอาทิตย์ แต่นักดาราศาสตร์อีกหลายคนเห็นว่า จานพอกพูนมวลขนาดเล็กธรรมดา ๆ ก็อาจให้พลังงานสูงอย่างยูแอลเอกซ์ได้หากสามารถบีบรังสีเอกซ์ที่แผ่ออกมาให้เป็นลำแคบ ๆ และชี้มายังโลกได้ 

นักดาราศาสตร์กลุ่มหนึ่ง นำโดย จอน มิลเลอร์ จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียน ได้ศึกษายูแอลเอกซ์สองดวงในดาราจักร NGC 1313 ซึ่งเป็นดาราจักรกังหันในกลุ่มดาวตาข่าย อยู่ห่างออกไป 12 ล้านปีแสง สเปกตรัมรังสีเอกซ์แสดงว่าส่วนในสุดของจานพอกพูนมวลทั้งสองมีอุณหภูมิต่ำอย่างไม่น่าเชื่อเพียง ล้านเคลวินเท่านั้น ในขณะที่ถ้าเป็นจานพอกพูนมวลในหลุมดำมวลดาวฤกษ์จะมีอุณหภูมิถึงสิบล้านเคลวิน อุณหภูมิที่ต่ำแสดงถึงขนาดของหลุมดำที่ใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากปริภูมิรอบหลุมดำขนาดใหญ่จะมีการบิดเบี้ยวน้อยกว่าหลุมดำขนาดเล็ก ก๊าซที่ไหลพรั่งพรูเข้าสู่หลุมดำจึงไม่มีการเบียดเสียดกันมากนัก คณะของมิลเลอร์ได้คำนวณออกมาว่าหลุมดำทั้งสองใน NGC 1313 มีมวลประมาณ 1,000 มวลสุริยะ 

นอกจากนี้ ภาพรังสีเอกซ์ยังแสดงเนบิวลาสว่างอยู่รอบ ๆ ยูแอลเอกซ์เหล่านี้ด้วย แสดงว่ารังสีจากหลุมดำแผ่ออกไปรอบทิศทาง ไม่ได้เป็นลำแคบชี้ตรงมายังโลก 

นักดาราศาสตร์อีกคณะหนึ่งได้สำรวจยูแอลเอกซ์ใน M82 ซึ่งเป็นดาราจักรดาวสะพรั่ง (starburst galaxy) ในกลุ่มดาวหมีใหญ่โดยใช้กล้องเอกซ์เอ็มเอ็ม-นิวตัน พบการกระเพื่อมของความเข้มรังสีเอกซ์เป็นเวลานาน 18 วินาทีอย่างสม่ำเสมอหลายครั้ง นับเป็นการพบการกระเพื่อมของแหล่งกำเนิดนอกดาราจักรทางช้างเผือกเป็นครั้งแรก นักดาราศาสตร์คณะที่สำรวจนี้ซึ่งนำโดย ท็อด สโตรเมเยอร์ กล่าวว่า การกระเพื่อมนี้น่าจะมาจากก้อนก๊าซร้อนโคจรรอบหลุมดำหรือสิ่งอื่นที่เกิดขึ้นบนจานพอกพูนมวล แต่ยืนยันหนักแน่นว่าไม่ใช่เกิดจากลำแคบของรังสีแน่นอน 

สเปกตรัมของยูแอลเอกซ์ใน M82 ที่ถ่ายโดยเอกซ์เอ็มเอ็มมีลักษณะเด่นที่แสดงถึงรังสีเอกซ์ที่แผ่ออกมาจากอะตอมเหล็กที่เป็นไอออนอย่างแรงและเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงจนมีการเลื่อนดอปเพลอร์มาก และการเลื่อนยังถูกเสริมด้วยการเลื่อนไปทางแดงที่เกิดจากการความโน้มถ่วงมหาศาลจากหลุมดำอีกด้วย สโตรเมเยอร์คำนวณมวลของหลุมดำที่เป็นต้นกำเนิดของรังสีเอาไว้ที่ 500 มวลสุริยะ 

อย่างไรก็ตาม ฟิลิป คาเรตจากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียนให้ความเห็นว่าสิ่งที่ค้นพบนี้เป็นหลักฐานที่ยืนยันหลุมดำมวลปานกลางได้ดี แต่การศึกษาทั้งสองนี้ก็ยังมีประเด็นน่าสงสัย เพราะว่าจานใน M82 ดูเหมือนกับจะร้อนกว่าจานใน NGC 1313 อยู่มาก อาจจะยังเร็วเกินไปนิดถ้าจะบอกว่านี่เป็นการยืนยันว่าหลุมดำมวลปานกลางมีอยู่จริง 

ใจกลางของดาราจักร M82 ถ่ายในย่านรังสีเอกซ์ ภาพสองภาพถ่ายห่างกัน 3 เดือน ภาพทางขวาที่ถ่ายทีหลังแสดงจุดสว่างที่ศรชี้จางลงไป เชื่อว่าเกิดจากอิทธิพลของหลุมดำที่มีมวลปานกลาง กากบาทสีเขียวแสดงตำแหน่งของศูนย์กลางมวลดาราจักร (ภาพจาก NASA/SAO/CXC)

ใจกลางของดาราจักร M82 ถ่ายในย่านรังสีเอกซ์ ภาพสองภาพถ่ายห่างกัน 3 เดือน ภาพทางขวาที่ถ่ายทีหลังแสดงจุดสว่างที่ศรชี้จางลงไป เชื่อว่าเกิดจากอิทธิพลของหลุมดำที่มีมวลปานกลาง กากบาทสีเขียวแสดงตำแหน่งของศูนย์กลางมวลดาราจักร (ภาพจาก NASA/SAO/CXC)

ที่มา: