สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบหลุมดำที่ใกล้โลกที่สุด

พบหลุมดำที่ใกล้โลกที่สุด

3 ก.พ. 2566
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์พบหลุมดำมวลดาวฤกษ์ดวงใหม่ มีชื่อว่า ไกอา บีเอช 1 อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู  หลุมดำดวงนี้อยู่ห่างจากโลกเพียง 1,600 ปีแสง นับเป็นหลุมดำที่อยู่ใกล้โลกที่สุด

หลุมดำ ไกอา บีเอช (Gaia BH1) กับดาวฤกษ์สหาย ภาพวาดตามจินตนาการของศิลปิน ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์เจมิไนเหนือ เป็นหลุมดำที่อยู่ใกล้โลกที่สุดเท่าที่รู้จัก   (จาก International Gemini Observatory/ NOIRLab/ NSF/ AURA/ J. da Silva/ Spaceengine/ M. Zamani.)


การค้นพบหลุมดำดวงนี้เริ่มจากนักดาราศาสตร์สังเกตเห็นว่าดาวฤกษ์ดวงหนึ่งมีตำแหน่งแกว่งไปมาเหมือนกับมีวัตถุที่มองไม่เห็นโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงนี้อยู่ จึงได้สำรวจเพิ่มเติมด้วยกล้องเจมิไนเหนือที่เกาะฮาวาย และได้คำตอบชัดเจนที่ยืนยันว่า ดาวฤกษ์ดวงนี้อยู่ในระบบดาวคู่โดยดาวอีกดวงหนึ่งเป็นหลุมดำที่มีมวล 9.26 มวลสุริยะ

หลุมดำนี้สังเกตยาก เนื่องจากอยู่ในระบบดาวคู่ ไม่มีสสารกำลังตกลงสู่หลุมดำ จึงไม่แผ่รังสีใด ๆ ออกมา นักดาราศาสตร์ทราบว่ามีหลุมดำอยู่จริงจากการวิเคราะห์การส่ายของดาวฤกษ์ที่โคจรรอบอยู่เท่านั้น ดาวสหายเป็นดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ โคจรรอบด้วยระยะห่างใกล้เคียงกับระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์

นักดาราศาสตร์กล่าวว่า ในดาราจักรทางช้างเผือกมีหลุมดำมวลดาวฤกษ์อยู่หลายล้านดวง แต่การค้นหาวัตถุชนิดนี้ยากมาก จนถึงปัจจุบันมีที่พบและยืนยันได้เพียงไม่กี่ดวงเท่านั้น เงื่อนไขหนึ่งที่ช่วยให้ค้นหาได้ง่ายขึ้นคือการเป็นหลุมดำที่อยู่ในระบบดาวคู่เช่นระบบของไกอาบีเอช ดวงนี้

ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดของการค้นพบหลุมดำแห่งนี้ไม่ใช่ระยะทางที่ใกล้ แต่เป็นสภาพของระบบดาวคู่นี้ที่มีหลายอย่างขัดกับทฤษฎีวิวัฒนาการดาวฤกษ์ ดาวฤกษ์ที่เป็นต้นกำเนิดของหลุมดำดวงนี้เป็นดาวฤกษ์มวลสูง คาดว่ามีมวลราว 20 มวลสุริยะ ดาวฤกษ์ที่มีมวลระดับนี้จะมีอายุขัยสั้นมากเพียงไม่กี่ล้านปีเท่านั้น หากดาวทั้งคู่กำเนิดขึ้นมาพร้อมกัน เมื่อดาวมวลสูงเข้าสู่ช่วงการเป็นดาวยักษ์ใหญ่ ขนาดของดาวจะใหญ่ขึ้นมากจนน่าจะกลืนกินดาวสหายไปเลย แล้วฤกษ์สหายดวงนั้นยังคงอยู่ถึงปัจจุบันนี้ได้อย่างไร 

ขณะนี้ยังไม่มีทฤษฎีเกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาวคู่ทฤษฎีใดที่อธิบายสภาพของดาวคู่นี้ได้