สมาคมดาราศาสตร์ไทย

หลุมดำความเร็วสูงช่วยพิสูจน์ทฤษฎีซูเปอร์โนวา

หลุมดำความเร็วสูงช่วยพิสูจน์ทฤษฎีซูเปอร์โนวา

24 พ.ย. 2545
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์พบหลุมดำความเร็วสูงดวงหนึ่งที่สนับสนุนว่าหลุมดำมวลดาวฤกษ์เกิดมาจากซูเปอร์โนวา 

หลุมดำดวงนี้มีชื่อว่า GRO J1655-40 อยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง มีทิศทางพุ่งเข้ามาเกือบตรงกับโลก อยู่ห่างออกไป6,000-9,000 ปีแสง เชื่อว่าหลุมดำดวงนี้เกิดขึ้นในจานบริเวณใกล้กับใจกลางของของดาราจักรของเรา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอัตรากำเนิดดาวฤกษ์สูง 

โดยปรกติ หลุมดำจะมืดและถ่ายรูปไม่ได้ แต่หลุมดำดวงนี้มีดาวสหายดวงหนึ่งซึ่งเป็นดาวฤกษ์ธรรมดาโคจรรอบอยู่ด้วยคาบ 2.6 วัน และถูกหลุมดำขโมยก๊าซไปตลอดเวลา กระบวนการนี้ทำให้เกิดลำของก๊าซความเร็วสูงพุ่งออกมาจากบริเวณใกล้ขั้วหลุมดำ จึงสามารถถ่ายภาพและสังเกตการณ์ได้ ระบบเทห์ฟากฟ้าชนิดนี้มีชื่อว่า ไมโครเควซาร์ นับว่าไมโครเควซาร์ดวงที่สองในดาราจักรทางช้างเผือกเท่าที่เคยค้นพบ 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของหลุมดำ GRO J1655-40 ที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลมาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปีที่แล้ว บวกกับข้อมูลจากกล้องภาคพื้นดินอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้วงโคจรที่แท้จริงในอวกาศของหลุมดำได้ และทราบว่าขณะนี้หลุมดำดวงนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 400,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าความเร็วเฉลี่ยของดาวฤกษ์ในบริเวณใกล้เคียงถึง เท่า 

การค้นพบนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากพบว่าหลุมดำนี้มีความสัมพันธ์กับซูเปอร์โนวาครั้งหนึ่งในอดีต อันเป็นการสนับสนุนทฤษฎีที่กล่าวว่าหลุมดำเกิดจากซูเปอร์โนวา 

ภาพแสดงการเกิดหลุมดำ GRO J1655-40 ตามจินตนาการของจิตรกร แรงระเบิดของซูเปอร์โนวาผลักให้หลุมดำเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก (ภาพจาก ESO, NASA)

ภาพแสดงการเกิดหลุมดำ GRO J1655-40 ตามจินตนาการของจิตรกร แรงระเบิดของซูเปอร์โนวาผลักให้หลุมดำเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก (ภาพจาก ESO, NASA)

ที่มา: