สมาคมดาราศาสตร์ไทย

คู่เหมือนของดาวพฤหัสบดีในระบบสุริยะอื่น

คู่เหมือนของดาวพฤหัสบดีในระบบสุริยะอื่น

21 มิ.ย. 2545
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา เจฟ มาร์ซี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ กับพอล บัตเลอร์จากสถาบันคาร์เนกีวอชิงตัน สองนักล่าดาวเคราะห์ชั้นนำของโลก ได้รายงานว่าได้ค้นพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่วงโคจรคล้ายคลึงกับดาวพฤหัสบดีมากกว่าดวงอื่น ๆ ที่เคยค้นพบมา 

ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่เป็นดาวก๊าซขนาดยักษ์คล้ายดาวพฤหัสบดีมานานแล้ว แต่ดาวเคราะห์ยักษ์เหล่านั้นมีวงโคจรเล็กมาก มีรัศมีวงโคจรเล็กกว่าดาวพุธเสียอีก นักดาราศาสตร์เรียกดาวเคราะห์จำพวกนี้ว่า พวก "พฤหัสร้อน" นอกจากนี้ยังมีวงโคจรที่รีมากอีกด้วยแทนที่จะเป็นวงโคจรเกือบกลมอย่างเช่นดาวพฤหัสบดี แต่ความพิเศษของดาวเคราะห์ที่ค้นพบในครั้งนี้คือเป็นดาวเคราะห์ยักษ์ที่มีวงโคจรใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดีมาก 

ดาวฤกษ์ที่เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะใหม่ในครั้งนี้อยู่ในกลุ่มดาวปู ชื่อว่า 55 ปู (55 Can) อยู่ห่างจากโลก 41 ปีแสง มีอายุ พันล้านปี ซึ่งใกล้เคียงกับอายุของดวงอาทิตย์ สำหรับดาวดวงนี้ ทั้งมาร์ซีและบัตเลอร์ได้เคยค้นพบว่ามีดาวเคราะห์เป็นบริวารดวงหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2539 แล้ว ดาวเคราะห์ดวงนั้นมีมวลน้อยกว่าดาวพฤหัสบดีเล็กน้อย โคจรรอบดาวฤกษ์ครบรอบทุก ๆ 14.6 วัน อยู่ห่างจากดาวแม่ 0.1 หน่วยดาราศาสตร์ จัดเป็นดาวเคราะห์ประเภทพฤหัสร้อนขนานแท้ 

ส่วนดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้ โคจรอยู่ห่างจากดาวแม่ 5.5 หน่วยดาราศาสตร์ มีคาบการโคจร 13 ปี เปรียบเทียบกับดาวพฤหัสบดีซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 5.2 หน่วยดาราศาสตร์ โคจรครบรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 11.86 ปี ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกันมาก อย่างไรก็ตาม ดาวฤกษ์ดวงใหม่ของ 55 ปู หนักกว่าดาวพฤหัสบดี 3.5 ถึง เท่า 

นอกจากนี้ เกรก ลาฟลิน นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตา ครูซ ได้ใช้ข้อมูลของมาร์ซีและบัตเลอร์ไปคำนวณและพบว่าดาวเคราะห์เล็กขนาดโลกสามารถอยู่ในระบบสุริยะอย่างนั้นได้แม้จะมีการรบกวนทางสนามแรงโน้มถ่วงอย่างหนักจากดาวเคราะห์ยักษ์ถึงสองดวงก็ตาม ดังนั้นระบบสุริยะของ 55 ปูจึงเป็นเป้าหมายสำคัญในอนาคตในการค้นหาดาวเคราะห์ขนาดเล็กอย่างแน่นอน 

ในการแถลงข่าวร่วมของมาร์ซีและบัตเลอร์ครั้งนี้ นอกจากมีชื่อของดาวเคราะห์ดวงใหม่ของ 55 ปูแล้ว ยังมีชื่อดาวเคราะห์ดวงใหม่อื่น ๆ อีก 12 ดวง ซึ่งรวมถึงดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดซึ่งเป็นบริวารของ HD49674 ในกลุ่มดาวสารถี อยู่ห่างจากดาวแม่ 0.05 หน่วยดาราศาสตร์ มีมวลเพียงประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของดาวพฤหัสบดี 

ปัจจุบันมีดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่ค้นพบแล้วกว่า 90 ดวง 

ระบบสุริยะของ 55 ปู (55 Cancri) ตามจินตนาการของศิลปิน

ระบบสุริยะของ 55 ปู (55 Cancri) ตามจินตนาการของศิลปิน

แผนภูมิเปรียบเทียบขนาดของระบบสุริยะของดวงอาทิตย์กับระบบสุริยะของดาว 55 ปู

แผนภูมิเปรียบเทียบขนาดของระบบสุริยะของดวงอาทิตย์กับระบบสุริยะของดาว 55 ปู

ที่มา: