สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แสงวาบรังสีแกมมาช่วยสร้างดาวฤกษ์

แสงวาบรังสีแกมมาช่วยสร้างดาวฤกษ์

21 เม.ย. 2544
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในที่ประชุมรังสีแกมมา 2001 ที่บัลติมอร์ ลุยจิ ปิโร จากสภาวิจัยแห่งชาติอิตาลี (Consiglio Nazionale delle Ricerche) ได้แสดงข้อมูลจากการสำรวจแสงวาบรังสีแกมมาที่ได้จากสถานีสังเกตการณ์จันทราของนาซาและ อะสิ เบปโปซักส์ (ASI BeppoSAX) ของอิตาลีและเนเธอร์แลนด์ เพื่อสนับสนุนแนวคิดว่า การเกิดแสงวาบรังสีแกมมาช่วยกระตุ้นให้การเกิดดาวฤกษ์ได้

เขาได้เสนอว่า แสงวาบรังสีแกมมาหลายแห่งอยู่ภายในใจกลางของหย่อมกำเนิดดาวฤกษ์พอดี ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีนักดาราศาสตร์หลายคนเคยเชื่อมาก่อนแล้ว เมื่อแสงวาบรังสีแกมมาระเบิดออก จะทำให้สสารจำนวนมากถูกพัดกระจายออกมาเหมือนลูกโป่งที่พองตัวออกมาอย่างรวดเร็ว การสำรวจได้พบว่าคลื่นของสสารที่ถูกแรงระเบิดเป่ากระเด็นออกมามีการหยุดลงเมื่อชนกับกำแพงก๊าซที่หนาแน่น ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นบริเวณที่ดาวฤกษ์กำเนิดขึ้นมา

ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าแสงวาบรังสีแกมมาเกิดขึ้นได้อย่างไร ทฤษฎีต่าง ๆ จำนวนมากถูกเสนอขึ้นมาเพื่ออธิบายปริศนานี้ ทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่า แสงวาบรังสีแกมมานั้น จริง ๆ แล้วคือ ไฮเปอร์โนวา หรือการระเบิดของดาวฤกษ์อายุน้อยที่มีน้ำหนักมากมหาศาล บ้างก็เชื่อว่า แสงวาบนี้เกิดจากการชนกันของหลุมดำกับดาวนิวตรอน เป็นต้น

แนวคิดของปิโรค่อนข้างโน้มเอียงไปทางทฤษฎีไฮเปอร์โนวา ตามทฤษฎีของเขา ดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ดวงหนึ่งได้กำเนิดขึ้นในก้อนเมฆที่หนาแน่นยิ่งยวด กวาดกินก๊าซอย่างตะกละตะกรามจนมวลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงเวลาประมาณ ล้านปี มวลของดาวได้พุ่งขึ้นถึงจุดวิกฤตและระเบิดขึ้นเป็นไฮเปอร์โนวา ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในก้อนเมฆกระตุ้นให้มีการสร้างดาวรุ่นใหม่ขึ้นมา

ในเอกภพมีแสงวาบรังสีแกมมาเกิดขึ้นประมาณวันละครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นนานตั้งแต่ไม่กี่มิลลิวินาทีจนถึงหลายนาที และเกิดแสงเรืองค้างเป็นรังสีเอกซ์อยู่นานหลายสัปดาห์ หลายครั้งทีเดียวที่นักดาราศาสตร์ตามสำรวจรังสีแกมมาจากแสงวาบไม่ทัน โดยตรวจจับได้เพียงแสงเรืองค้างช่วงท้าย ๆ เท่านั้น นักดาราศาสตร์จึงฝากความหวังไว้กับดาวเทียมสำรวจแสงวาบรังสีแกมมา HETE-2 ของนาซา และ สวิฟต์ ที่จะถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในปี 2546 ในการช่วยตามหาแสงวาบนี้ได้ทันเหตุการณ์กว่าในปัจจุบันนี้



สวิฟต์ จะเดินทางไปสำรวจแสงวาบรังสีแกมมาในปี 2546 (ภาพจาก NASA)

แสงวาบรังสีแกมมาตามจินตนาการของศิลปิน (ภาพจาก STScI)

แสงวาบรังสีแกมมาตามจินตนาการของศิลปิน (ภาพจาก STScI)

ดาวเทียมสำรวจแสงวาบรังสีแกมมาเฮเท-2 (ภาพจาก NASA)

ดาวเทียมสำรวจแสงวาบรังสีแกมมาเฮเท-2 (ภาพจาก NASA)

ที่มา: