สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ : 24 มกราคม 2545

ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ : 24 มกราคม 2545

6 มกราคม 2545
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 15 กันยายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ในปี 2545 มีปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ที่สามารถมองเห็นได้จากประเทศไทยเพียงครั้งเดียว ซึ่งจะเกิดขึ้นในคืนวันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2545 ดาวเคราะห์ที่จะถูกดวงจันทร์บังในวันนี้ คือ ดาวเสาร์ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หากพลาดการดูดวงจันทร์บังดาวเสาร์ในวันนี้แล้ว ประชาชนในประเทศไทยจะไม่สามารถมองเห็นดาวเสาร์ถูกดวงจันทร์บังได้อีกตลอดช่วงระยะเวลา 22 ปีนับจากนี้ไป เนื่องจากหลังจากครั้งนี้แล้วดวงจันทร์จะบังดาวเสาร์เห็นในประเทศไทยอีกครั้งในคืนวันที่ 24 ต่อถึงเช้ามืดของวันที่ 25 กรกฎาคม 2567

บริเวณที่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้ ได้แก่ เกือบทุกภาคของไทยยกเว้นภาคใต้ นอกจากนี้ อินเดีย ฟิลิปปินส์ และเอเชียตะวันออก จะสามารถมองเห็นปรากฏการณ์ในคืนนี้ได้พร้อมกันกับคนไทย คืนที่เกิดปรากฏการณ์นี้ดวงจันทร์จะมีส่วนสว่างประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสว่างมากพอสมควร ขณะที่ดวงจันทร์เข้าบังดาวเสาร์นั้น ดวงจันทร์จะปรากฏอยู่บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมองเห็นดาวเสาร์และดวงจันทร์เข้าใกล้กันมากที่สุดในเวลาประมาณเที่ยงคืน หากว่าอยู่ในพื้นที่ของประเทศที่มีโอกาสมองเห็นการบังกัน กล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายปานกลางถึงสูงจะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถมองเห็นดาวเสาร์ค่อยๆ หายลับไปเบื้องหลังดวงจันทร์ได้ สำหรับช่วงเวลาที่ดวงจันทร์บังดาวเสาร์นั้นขึ้นอยู่กับระยะห่างของสถานที่สังเกตการณ์กับแนวขอบเขตของการมองเห็น ซึ่งแนวนี้พาดผ่านตอนเหนือของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และตอนใต้ของจังหวัดตราด

แนวการเคลื่อนที่ของดาวเสาร์เทียบกับดวงจันทร์ที่มองเห็นได้จากเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และภูเก็ต แสดงให้เห็นว่าบริเวณใต้เขตที่มองเห็นการบังกันจะมองเห็นดาวเสาร์ปรากฏอยู่ห่างจากดวงจันทร์ไปทางซ้ายมือ 

เวลาที่เกิดปรากฏการณ์


จังหวัดที่สามารถมองเห็นการบังกันในคืนวันนี้ จะเห็นดาวเสาร์หายลับไปเบื้องหลังดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 23.30 น. โดยเวลาจะแตกต่างจากนี้ ขึ้นอยู่กับสถานที่ๆ สังเกตการณ์ และขณะที่เกิดการบังกันนั้น ดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 40-50 องศาทางทิศตะวันตก เวลาของการเกิดปรากฏการณ์ใน อำเภอเมือง ของจังหวัดต่างๆ เป็นไปตามตาราง

แผนที่แสดงบริเวณประเทศไทยที่สามารถมองเห็นดวงจันทร์บังดาวเสาร์ในคืนวันที่ 24 มกราคม 2545 เส้นในแนวเฉียงแสดงขอบเขตของการมองเห็น โดยที่ส่วนสว่างของแผนที่แสดงเขตที่มองเห็นการบังกันแบบหมดดวง ผู้สังเกตที่อยู่บริเวณเขตรอยต่อของส่วนสว่างกับส่วนทึบจะเห็นดาวเสาร์ถูกบังบางส่วน ขณะที่ผู้สังเกตในส่วนทึบ คือ ตั้งแต่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป จะไม่สามารถมองเห็นการบังกันได้ 

เวลาของการเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ คืนวันที่ 24 มกราคม 2545
จังหวัดเวลาที่ดวงจันทร์เริ่มบังดาวเสาร์เวลาที่สิ้นสุดการบังดาวเสาร์
กรุงเทพฯ23:37:34 น.00:11:35 น.
กาญจนบุรี23:34:51 น.00:10:38 น.
กำแพงเพชร23:25:02 น.00:19:16 น.
จันทบุรี23:47:38 น.00:08:24 น.
ฉะเชิงเทรา23:38:33 น.00:12:48 น.
เชียงราย23:17:37 น.00:26:01 น.
เชียงใหม่23:18:04 น.00:23:01 น.
ชลบุรี23:40:32 น.00:10:40 น.
ขอนแก่น23:30:28 น.00:25:12 น.
ตราด23:51:00 น.00:06:05 น.
ตาก23:23:09 น.00:19:38 น.
ลพบุรี23:32:49 น.00:16:28 น.
นครปฐม23:36:39 น.00:10:51 น.
นครนายก23:36:17 น.00:15:27 น.
นครราชสีมา23:34:17 น.00:20:05 น.
นครสวรรค์23:28:45 น.00:18:14 น.
นนทบุรี23:37:07 น.00:12:01 น.
ปทุมธานี23:36:08 น.00:13:04 น.
พระนครศรีอยุธยา23:34:41 น.00:14:35 น.
พิษณุโลก23:25:11 น.00:21:32 น.
เพชรบุรี23:41:27 น.00:06:07 น.
สกลนคร23:30:25 น.00:28:46 น.
ระยอง23:46:30 น.00:06:27 น.
ราชบุรี23:38:13 น.00:08:39 น.
สมุทรปราการ23:38:38 น.00:11:05 น.
สมุทรสาคร23:38:42 น.00:09:54 น.
สุพรรณบุรี23:33:34 น.00:14:05 น.
อุบลราชธานี23:36:55 น.00:26:00 น.
อุดรธานี23:27:42 น.00:27:03 น.


หมายเหตุ ผลการคำนวณนี้แสดงเวลาที่ขอบดวงจันทร์อยู่ตรงกึ่งกลางของดาวเสาร์เสมือนดาวเสาร์เป็นจุดแบบดาวฤกษ์ แทนการใช้เวลาที่ขอบดวงจันทร์สัมผัสขอบดาวเสาร์ ดังนั้นผู้ที่ดูดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์จากอำเภอเมืองของจังหวัดเหล่านี้ จะเห็นดาวเสาร์ถูกดวงจันทร์บังครึ่งดวง ณ เวลาที่แสดงในตาราง ผลคำนวณจากโปรแกรม WinOccult ของ International Occultation Timing Association (IOTA) สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.lunar-occultations.com/iota