สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเสาร์ใกล้โลก 2545

ดาวเสาร์ใกล้โลก 2545

22 พฤศจิกายน 2545
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 10 กันยายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
หลังจากดวงอาทิตย์ตกในเดือนธันวาคมนี้ จะเห็นดาวเสาร์ขึ้นมาจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และจะสามารถมองเห็นดาวเสาร์ต่อเนื่องได้ตลอดทั้งคืนจนถึงเช้ามืด เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี หรือพูดอีกอย่างว่าโลกมีตำแหน่งอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวเสาร์ นอกจากนั้นในวันที่ 17 ธันวาคม 2545 ดาวเสาร์ยังจะมีระยะห่างที่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 27 ปี ตลอดเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมา ดาวเสาร์เคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกในบริเวณกลุ่มดาวนายพราน จากนั้นจะเริ่มเคลื่อนที่ถอยหลังกลับมายังกลุ่มดาววัว

วันที่ดาวเสาร์และดวงอาทิตย์อยู่ตรงข้ามกัน ดาวเสาร์จะขึ้นทางทิศตะวันออกขณะที่ดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตก ด้วยตาเปล่าจะเห็นดาวเสาร์สุกสว่างเปล่งแสงสีทองโดดเด่นชัดเจนอยู่บนท้องฟ้าตะวันออกในเวลาหัวค่ำ เมื่อมองดูดาวเคราะห์ผ่านใกล้โทรทรรศน์ ดาวเสาร์จัดว่าเป็นดาวเคราะห์ที่สวยงามที่สุด เนื่องจากวงแหวนที่ล้อมรอบตัวดวง ในช่วงที่ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุดจะอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 1,205 ล้านกิโลเมตร ปรากฏบนท้องฟ้าด้วยอันดับความสว่าง –0.5 สว่างกว่าดาวฤกษ์ดวงใดในบริเวณนี้ ยกเว้นดาวซิริอัส มีขนาดเชิงมุมของตัวดวงตามแนวศูนย์สูตรเท่ากับ 21 พิลิปดา และวงแหวนที่แผ่ออกไปด้วยขนาดเชิงมุม 47 พิลิปดา

ภาพถ่ายดาวเสาร์จากยานแคสซีนีเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2545 ที่ระยะห่าง 285 ล้านกิโลเมตร (เกือบสองเท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์) จุดสว่างด้านบนของภาพ คือ ไททัน ดวงจันทร์ของดาวเสาร์
 


สัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ จะเห็นดาวเสาร์เข้าไปใกล้กับเนบิวลาปูในกลุ่มดาววัว และจะผ่านหน้าเนบิวลาแห่งนี้ในคืนวันที่ และ มกราคม 2546 ไททันเป็นดวงจันทร์ดวงที่สว่างที่สุดของดาวเสาร์ มีอันดับความสว่างประมาณ มองเห็นได้ไม่ยากแม้ดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก และนับเป็นดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งในระบบสุริยะ ยานอวกาศแคสซีนีซึ่งเป็นความร่วมมือของนาซา องค์การอวกาศยุโรป และองค์การอวกาศอิตาลี จะเดินทางไปถึงดาวเสาร์และเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเสาร์ในเดือนกรกฎาคม 2547 พร้อมทั้งส่งยานลูกลงไปยังไททันในเดือนมกราคม 2548