สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเสาร์ใกล้โลก 2548

ดาวเสาร์ใกล้โลก 2548

3 มกราคม 2548
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 21 มิถุนายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ค่ำคืนหลังอาทิตย์อัสดงตลอดเดือนมกราคมนี้ เราจะเห็นดาวเสาร์ขึ้นเหนือขอบฟ้าทางทิศตะวันออกในกลุ่มดาวคนคู่ และสามารถมองเห็นดาวเสาร์ต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งคืนจนถึงเช้ามืด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ตลอดเดือนกันยายน-ตุลาคมที่ผ่านมา ดาวเสาร์เคลื่อนที่เดินหน้าไปทางทิศตะวันออกในบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ จากนั้นได้เริ่มปรากฏเคลื่อนที่ถอยหลังตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน

ภาพถ่ายดาวเสาร์ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อวันที่ มีนาคม 2546 ในความยาวคลื่นย่านแสงที่ตามองเห็น แสดงให้เห็นลักษณะที่ต่างกันในแต่ละแถบของบรรยากาศ รวมทั้งส่วนต่าง ๆ ของวงแหวน 

วันที่ดาวเสาร์และดวงอาทิตย์อยู่ตรงข้ามกันตรงกับวันที่ 14 มกราคม 2548 ดาวเสาร์จะขึ้นทางทิศตะวันออกขณะที่ดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตก ด้วยตาเปล่าจะเห็นดาวเสาร์สุกสว่างเปล่งแสงสีทองอยู่บนท้องฟ้าตะวันออกในเวลาหัวค่ำ เมื่อมองดูดาวเคราะห์ดวงนี้ผ่านใกล้โทรทรรศน์ จะเห็นดาวเสาร์มีวงแหวนล้อมรอบตัวดวง ช่วงที่ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุดจะอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 1,208 ล้านกิโลเมตร ส่องสว่างด้วยโชติมาตร -0.4 สว่างกว่าดาวฤกษ์ดวงใดในบริเวณนี้ ยกเว้นดาวซีรีอัส มีขนาดเชิงมุมตามแนวศูนย์สูตรเท่ากับ 21 พิลิปดา และวงแหวนที่แผ่ออกไปด้วยขนาดเชิงมุม 47 พิลิปดา

เมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์อาจมองเห็นไททัน ดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ มีโชติมาตรประมาณ 8 และเป็นดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจมากที่สุดดวงหนึ่งในระบบสุริยะ ยานแคสซีนีขององค์การนาซา องค์การอวกาศยุโรป และองค์การอวกาศอิตาลี ได้เดินทางไปถึงดาวเสาร์และเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเสาร์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และได้ส่งยานลูกชื่อ "ยานไฮเกนส์" ไปสำรวจไททันในกลางเดือนมกราคม 2548