สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวศุกร์พบดาวพฤหัสบดี (กุมภาพันธ์ 2551)

ดาวศุกร์พบดาวพฤหัสบดี (กุมภาพันธ์ 2551)

31 มกราคม 2551
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 21 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ดาวศุกร์ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดกับดาวพฤหัสบดีซึ่งเป็นดาวเคราะห์ดวงใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ จะโคจรมาอยู่ในแนวเดียวกันเมื่อสังเกตจากโลก ทำให้คนที่ตื่นนอนแต่เช้าและคนที่ต้องออกจากบ้านแต่เช้ามืด มองเห็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเป็นดาวสว่างสองดวงอยู่ใกล้กันบนท้องฟ้าทิศตะวันออก

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ดวงที่สว่างมากที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ ดวงที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดาวศุกร์ปรากฏบนท้องฟ้าในเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างเช้ามืดกับหัวค่ำ ช่วงเวลาที่ไม่สามารถมองเห็นดาวศุกร์ได้คือช่วงที่มันอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากจนแสงอาทิตย์กลบแสงของดาวศุกร์

เรามองเห็นดาวศุกร์ในเวลาเช้ามืดซึ่งเรียกว่า "ดาวประกายพรึก" ต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2550 ระยะห่างเชิงมุมระหว่างดาวศุกร์กับดวงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นหลังจากนั้น แต่ช่วงเวลานี้ดาวศุกร์กำลังเคลื่อนกลับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อีกครั้ง ทำให้มันอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่มากนักในตอนที่ท้องฟ้าเริ่มสว่าง ดาวศุกร์สว่างมากเนื่องจากมันอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์และโลก มีบรรยากาศที่สะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดี ส่วนใหญ่ดาวศุกร์จะสว่างจนแทบไม่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ที่จริงแล้วความสว่างของดาวศุกร์ไม่คงที่ ผันแปรไปตามระยะห่างจากโลกและมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์ที่ทำให้ดาวศุกร์เปลี่ยนแปลงรูปร่างทำนองเดียวกับการเกิดดิถีของดวงจันทร์

ดาวพฤหัสบดีสว่างรองจากดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดและมีมวลสูงกว่าโลก 318 เท่า ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบภายใน 11.86 ปี เราจึงเห็นดาวพฤหัสบดีเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวจักรราศีโดยเฉลี่ยปีละกลุ่ม ในแต่ละปีจะมีครั้งหนึ่งที่ดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้โลกที่สุด สำหรับปี 2551 ดาวพฤหัสบดีจะใกล้โลกในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

ปีนี้ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเข้าใกล้กันมากที่สุดในเช้ามืดวันเสาร์ที่ กุมภาพันธ์ 2551 ระยะห่างระหว่างดาวสองดวงนี้คือ 45 ลิปดา มากกว่าขนาดปรากฏของดวงจันทร์อยู่เล็กน้อย กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายต่ำสามารถส่องเห็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีได้พร้อมกัน และมีโอกาสที่จะเห็นดวงจันทร์บริวารสี่ดวงของดาวพฤหัสบดีด้วย

การปรากฏใกล้กันระหว่างดาวเคราะห์ดวงใด ๆ ก็ตาม มีโอกาสเกิดได้หลายครั้งในแต่ละปี การที่เราเห็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้กันบนท้องฟ้าเป็นเพียงมุมมองจากจุดที่เราอยู่ แท้จริงเช้ามืดวันที่ กุมภาพันธ์ ดาวเคราะห์ทั้งสองดวงอยู่ห่างจากโลกและห่างจากกันมาก ดาวศุกร์อยู่ห่างจากโลก 201 ล้านกิโลเมตร ขณะที่ดาวพฤหัสบดีอยู่ห่าง 904 ล้านกิโลเมตร ดาวพฤหัสบดีอยู่ไกลกว่าดาวศุกร์ 4.5 เท่า แต่เราเห็นดาวพฤหัสบดีมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดาวศุกร์เนื่องจากมันมีเส้นผ่านศูนย์กลางจริงยาวกว่าดาวศุกร์ถึง 12 เท่า

หลังการเข้าใกล้กันครั้งนี้ เราจะเห็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงกันอีกในปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม 2551 แต่เปลี่ยนไปเห็นในเวลาหัวค่ำ และระยะห่างระหว่างดาวเคราะห์ทั้งสองดวงก็จะไม่ใกล้กันมากเท่าครั้งนี้ ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเคยอยู่ใกล้กันจนบังกันและมองเห็นเหมือนเป็นดาวดวงเดียวเมื่อปี 2361 ครั้งต่อไปจะเกิดในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2608 แต่ครั้งนั้นทั้งคู่จะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากจนสังเกตได้ยาก

ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้กันบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด