เมื่อใดที่ดวงอาทิตย์อยู่ตรงศีรษะในประเทศไทย
ฤดูร้อนของประเทศไทยอยู่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม หลายคนอาจเข้าใจว่าประเทศไทยมีอากาศร้อนมากที่สุดในช่วงเดือนเมษายนเพราะดวงอาทิตย์ใกล้โลกที่สุด นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดถนัด แท้จริงแล้วสาเหตุมาจากการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะในเวลาเที่ยงวัน โดยทำมุมตั้งฉากกับพื้นดิน จึงได้รับรังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์เต็มที่
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนซึ่งหมายถึงพื้นที่ระหว่างเส้นสำคัญทางภูมิศาสตร์ 2 เส้น ได้แก่ เส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ (Tropic of Cancer) กับเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์น (Tropic of Capricorn) เส้นแรกอยู่ในแนวละติจูดประมาณ 23.5 องศาเหนือ ลากผ่านหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย ตอนใต้ของจีน อีกเส้นอยู่ในแนวละติจูดประมาณ 23.5 องศาใต้ ผ่านประเทศออสเตรเลีย ปารากวัย ชิลี อาร์เจนตินา บราซิล แอฟริกาใต้ เป็นต้น
ในแต่ละปีประเทศที่อยู่ในเขตร้อนจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุด 2 วัน กรุงเทพฯ อยู่ในราววันที่ 27 เมษายน และ 16 สิงหาคม เดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมจึงมักเป็นช่วงที่กรุงเทพฯ มีอากาศร้อนที่สุด ส่วนในเดือนสิงหาคมแม้ว่าดวงอาทิตย์จะผ่านจุดเหนือศีรษะเช่นกัน แต่กลับไม่ค่อยร้อนมาก เพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน
หากอยู่ในกรุงเทพฯดวงอาทิตย์จะผ่านเหนือศีรษะในวันที่ 27 เมษายน เวลา 12:16 น. (วันและเวลาใกล้เคียงกันทุกปี อาจคลาดเคลื่อนไปจากนี้ได้ 1 วัน ในบางปี) ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเวลานั้น เสาที่ตั้งฉากกับพื้นดินจะไม่ปรากฏเงาของตัวเสาให้เห็น แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจะเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกัน แผนที่ด้านล่างนี้ใช้สำหรับค้นหาวันและเวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะครั้งแรกของปี เส้นแนวนอนบอกวัน เส้นโค้งที่อยู่ในแนวตั้งบอกเวลาตามเวลามาตรฐานประเทศไทย เราสามารถหาวันและเวลาได้โดยดูว่าตำแหน่งที่เราสนใจอยู่ ณ จุดตัดของเส้นใด ตัวอย่างเช่น จ.ภูเก็ต แนวนอนอยู่ตรงกับวันที่ 10 เมษายน แนวตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเวลาประมาณ 12:28 น. ดังนั้นดวงอาทิตย์จึงผ่านจุดเหนือศีรษะของคนภูเก็ตในวันและเวลาดังกล่าว
จากแผนที่จะสังเกตได้ว่าดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะของคนในภาคใต้ก่อนเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน จากนั้นจะค่อย ๆ ไล่ขึ้นมาทางเหนือ ขอยกตัวอย่างในบางจังหวัด ดังนี้
อ.หาดใหญ่จ.สงขลา วันที่ 8 เมษายน เวลา 12:20 น.
อ.เมืองนครศรีธรรมราชวันที่ 12 เมษายน เวลา 12:21 น.
อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์วันที่ 21 เมษายน เวลา 12:20 น.
กรุงเทพมหานครวันที่ 27 เมษายน เวลา 12:16 น.
อ.เมืองนครราชสีมาวันที่ 1 พฤษภาคม เวลา 12:09 น.
อ.เมืองอุบลราชธานีวันที่ 2 พฤษภาคม เวลา 11:58 น.
อ.เมืองพิษณุโลกวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 12:16 น.
อ.เมืองเชียงใหม่วันที่ 15 พฤษภาคม เวลา 12:20 น.
หลังจากช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะครั้งแรกของปีไปแล้วดวงอาทิตย์จะเคลื่อนไปทางทิศเหนือมากยิ่งขึ้น เราจะสังเกตได้ว่าในเวลาเที่ยงวัน ดวงอาทิตย์จะอยู่สูงและเบนไปทางทิศเหนือ ไม่เหมือนกับฤดูหนาวที่ดวงอาทิตย์เบนไปทางทิศใต้ หากมีประตูหรือหน้าต่างที่หันไปทางทิศเหนือและใต้ ก็จะพบว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องเข้ามาในบ้านได้เปลี่ยนทิศทางไปจากเดิม
สำหรับวันและเวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะครั้งที่2 ของปี จะเริ่มต้นที่ภาคเหนือก่อน แล้วลงไปทางใต้ ขอยกตัวอย่างในบางจังหวัด ดังนี้
อ.เมืองเชียงใหม่วันที่ 29 กรกฎาคม เวลา 12:31 น.
อ.เมืองพิษณุโลกวันที่ 6 สิงหาคม เวลา 12:25 น.
อ.เมืองอุบลราชธานีวันที่ 11 สิงหาคม เวลา 12:06 น.
อ.เมืองนครราชสีมาวันที่ 12 สิงหาคม เวลา 12:17 น.
กรุงเทพมหานครวันที่ 16 สิงหาคม เวลา 12:22 น.
อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์วันที่ 22 สิงหาคม เวลา 12:24 น.
อ.เมืองนครศรีธรรมราชวันที่ 1 กันยายน เวลา 12:20 น.
อ.หาดใหญ่จ.สงขลา วันที่ 5 กันยายน เวลา 12:17 น.
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน
ในแต่ละปี
หากอยู่ในกรุงเทพฯ
จากแผนที่จะสังเกตได้ว่าดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะของคนในภาคใต้ก่อน
อ.หาดใหญ่
อ.เมืองนครศรีธรรมราช
อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์
กรุงเทพมหานคร
อ.เมืองนครราชสีมา
อ.เมืองอุบลราชธานี
อ.เมืองพิษณุโลก
อ.เมืองเชียงใหม่
หลังจากช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะครั้งแรกของปีไปแล้ว
สำหรับวันและเวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะครั้งที่
อ.เมืองเชียงใหม่
อ.เมืองพิษณุโลก
อ.เมืองอุบลราชธานี
อ.เมืองนครราชสีมา
กรุงเทพมหานคร
อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์
อ.เมืองนครศรีธรรมราช
อ.หาดใหญ่