สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เพกาซัส ม้าติดปีกแห่งสรวงสวรรค์

เพกาซัส ม้าติดปีกแห่งสรวงสวรรค์

23 กรกฎาคม 2565 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 4 กันยายน 2565
เมื่อเอ่ยถึงเพกาซัส คนทั่วไปอาจนึกไปถึงสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย เพราะชื่อนี้ถูกนำไปใช้ในแทบทุกวงการ เช่นรุ่นรองเท้า ยานพาหนะ ชื่อจรวด ร้านค้า ซอฟต์แวร์อีเมล ระบบปฏิบัติการวินโดวส์รุ่นหนึ่งก็มีโค้ดเนมว่าเพกาซัส สปายแวร์อาวุธร้ายไซเบอร์ที่เป็นเครื่องมือของอาชญากรตัวหนึ่งก็มีชื่อว่าเพกาซัส

คนในแวดวงดาราศาสตร์ก็คุ้นเคยชื่อเพกาซัสเป็นอย่างดี เพราะเป็นชื่อของกลุ่มดาว กลุ่มดาวเพกาซัส เขียนในภาษาละตินว่า Pegasus มีชื่อไทยว่า กลุ่มดาวม้าบิน เป็นกลุ่มดาวขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันดี เพราะมีความสว่าง โดดเด่น สังเกตง่าย และที่สำคัญเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวไม่กี่กลุ่มที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับชื่อ 

เพกาซัส  (จาก istockphoto.com)

เพกาซัส เป็นชื่อของม้ามีปีกตามประมวลเรื่องปารัมปรากรีก ถูกนำมาใช้เป็นชื่อของกลุ่มดาวตั้งแต่สมัยของทอเลมีเมื่อศตวรรษที่ และกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวมาตรฐาน 88 กลุ่มที่ใช้กันในปัจจุบัน

นอกจากเพกาซัสแล้ว ยังมีม้าในจินตนาการของฝรั่งอีกชนิดที่คนไทยก็คุ้นเคยเหมือนกันก็คือ ยูนิคอร์น เป็นม้าที่มีนอแหลมขึ้นบนหน้าผากคล้ายตัวนาร์วาล ชื่อของยูนิคอร์นก็ถูกนำมาใช้เป็นชื่อกลุ่มดาวเหมือนกัน คือกลุ่มดาวยูนิคอร์น ชื่อในภาษาละตินคือ Monoceros 

เวลาเขียนรูปม้าทิพย์สองชนิดนี้อย่าเอามาปะปนกัน เพกาซัสมีปีกไม่มีนอ ยูนิคอร์นมีนอไม่มีปีก บางทีศิลปินก็สับสน เขียนรูปม้าที่มีทั้งนอทั้งปีกออกมา ตัวนี้ไม่ใช่ทั้งเพกาซัสและยูนิคอร์น แต่เรียกว่า เพกาคอร์น 

กลุ่มดาวม้าบินรายล้อมด้วยกลุ่มดาวที่มีชื่อและโดดเด่นหลายกลุ่ม ด้านเหนือหลังม้า (ทางทิศใต้) และด้านท้ายม้า (ทิศตะวันออก) มีกลุ่มดาวปลาซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศี บริเวณใกล้ส่วนที่เป็นปากม้ามีกลุ่มดาวเล็กจิ๋วสองกลุ่มแต่ก็สังเกตง่าย ได้แก่ กลุ่มดาวม้าแกลบ และ กลุ่มดาวโลมา  ทางตะวันออกเฉียงใต้คือกลุ่มดาวแอนดรอเมดาที่คนมักมองว่าเป็นขาหลังของเพกาซัส 

แผนที่ฟ้าแสดงกลุ่มดาวม้าบินและกลุ่มดาวข้างเคียง (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

กลุ่มดาวม้าบินมีดาวสว่างหลายดวง ดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนี้คือ ดาวอีนิฟ หรือดาวจมูกม้า มีโชติมาตร 2.4 ดาวสี่ดวงที่แทนลำตัวม้าเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู เป็นสี่เหลี่ยมที่นักดูดาวคุ้นเคยกันดีในชื่อ จัตุรัสม้าบิน ดาวทั้งสี่คือ ดาวมาร์แคบ ดาวชีอัต ดาวอัลเฟอร์แรตส์ และดาวอัลเจนิบ ความจริงดาวสี่ดวงนี้เป็นของกลุ่มดาวม้าบินแค่สามดวง ดาวอัลเฟอร์แรตส์ที่อยู่ทางมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นของกลุ่มดาวแอนดรอเมดา

ดาวมาร์แคบและดาวชีอัตมีไรต์แอสเซนชันเกือบเท่ากัน เส้นตรงที่พาดผ่านสองดวงนี้จึงวางทิศในแนวเหนือ-ใต้เกือบพอดี ใช้เป็นหมุดเล็งในการชี้ดาวเหนือได้ ในกรณีที่ต้องการหาทิศเหนือแต่มองไม่เห็นดาวเหนือ ดาวสองดวงนี้จะช่วยบอกทิศได้เป็นอย่างดี 

กลุ่มดาวม้าบิน (Pegasus) และกลุ่มดาวข้างเคียง (ภาพดัดแปลงจาก stellarium web) 

ในวิชาดูดาวแผนไทย ก็มี "ดาวม้า" เหมือนกัน ดังที่ถูกเอ่ยถึงในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีช่วงหนึ่งว่า 

"ดูโน่นแนะแม่อรุณรัศมี
ตรงมือชี้ ดาวเต่า นั่นดาวไถ
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย
ดาวลูกไก่ เคียงคู่เป็นหมู่กัน"

กลอนบทนี้เอ่ยถึงชื่อดาวหลายชื่อ ส่วนใหญ่เป็นชื่อที่เราคุ้นเคยกันดี ได้แก่ ดาวเต่า ดาวไถ ดาวธง ดาวลูกไก่ แต่อาชาไนยอยู่ตรงไหนกัน คำว่าอาชาไนยในที่นี้ก็คงหมายถึงดาวม้า  นักดูดาวบ้านเราบางคนเอาคำว่าดาวม้านี้ไปโยงกับม้าบินเพกาซัส ถึงกับไปอธิบายว่ากลุ่มดาวม้าบินหรือเพกาซัสก็คือ "อาชาไนย" ที่สุนทรภู่เคยเอ่ยถึงในเรื่องพระอภัยมณี ซึ่งนั่นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าดาวม้าของไทยอยู่ตรงไหนของท้องฟ้า แต่เมื่อพิจารณาคำบรรยายในกลอนแล้ว ดาวม้าน่าจะอยู่ใกล้กลุ่มดาววัว ซึ่งไกลจากกลุ่มดาวม้าบินโขอยู่ จึงเชื่อว่าดาวม้าของไทยไม่ใช่กลุ่มดาวม้าบิน เรื่องนี้คงต้องมีการสืบเสาะค้นคว้ากันต่อไปว่าดาวม้าของไทยอยู่ตรงไหนกันแน่

กลุ่มดาวม้าบินยังเป็นที่อยู่ของดาว 51 ม้าบิน (51 Pegasi) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ดวงแรกนอกจากดวงอาทิตย์ที่นักดาราศาสตร์พบว่ามีดาวเคราะห์เป็นบริวารด้วย ดาวดวงนี้มีอันดับความสว่าง 5.5 สว่างพอจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแต่ก็ริบหรี่เต็มทน ตำแหน่งดาวอยู่ระหว่างดาวมาร์แคบกับดาวซีอัตเยื้องไปทางตะวันตกเล็กน้อย

แม้จะเป็นกลุ่มดาวที่กินพื้นที่กว้าง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับเจ็ดบนท้องฟ้า แต่ถ้าพูดถึงวัตถุท้องฟ้า กลุ่มดาวม้าบินออกจะอาภัพสักหน่อย เพราะมีวัตถุท้องฟ้าที่โดดเด่นในพื้นที่ของกลุ่มดาวนี้น้อยมาก มีเพียงกระจุกดาว เอ็ม 15 เท่านั้นที่มีความสว่างในระดับที่พอมองเห็นได้ด้วยกล้องกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก และเป็นวัตถุเมซีเยเพียงวัตถุเดียวที่อยู่ในกลุ่มดาวนี้ 

กระจุกดาวเอ็ม 15 เป็นกระจุกดาวทรงกลมที่มีรูปร่างสวยงาม มีดาวฤกษ์กว่า 100,000 ดวง คาดว่ามีมีอายุราว 12.5 พันล้านปี นับเป็นกระจุกดาวที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งบนท้องฟ้า 

กระจุกดาวเอ็ม 15 (จาก Adam Block/Mount Lemmon SkyCenter/University of Arizona)

กลุ่มดาวม้าบิน ขณะเพิ่งขึ้นจากขอบฟ้า ขีดนำสีขาวแสดงตำแหน่งของดาว 51 ม้าบิน (จาก วิษณุ เอื้อชูเกียรติ)

ตำแหน่งของกลุ่มดาวอยู่ทางซีกฟ้าเหนือ ไม่ไกลจากเส้นศูนย์สูตรฟ้า เมื่อมองจากประเทศไทยซึ่งมีละติจูดประมาณ 15 องศา จึงมีโอกาสเห็นม้าตัวนี้ทะยานพุ่งผ่านจุดเหนือศีรษะไปแทบทุกวัน ดวงอาทิตย์อยู่ที่ตำแหน่งใกล้กลุ่มดาวนี้ในช่วงเดือนมีนาคม นั่นหมายความว่า เรามีโอกาสที่จะเห็นกลุ่มดาวนี้ได้ชัดเจนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมกราคมของทุกปี  แต่ช่วงเวลาที่สะดวกที่สุดน่าจะเป็นตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม เมื่อท้องฟ้าเริ่มแจ่มใส กลุ่มดาวม้าบินจะขึ้นมาอยู่เหนือหัวตั้งแต่หัวค่ำเลยทีเดียว