สมาคมดาราศาสตร์ไทย

คำชี้แจง กรณีดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23

9 สิงหาคม 2562 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 25 สิงหาคม 2562
จากกระแสข่าวว่า วันที่ 10 สิงหาคม 2562 ที่จะถึงนี้ จะมีดาวเคราะห์น้อยชื่อ 2006 คิวคิว 23 (2006 QQ23) เข้ามาใกล้โลกและมีโอกาสพุ่งชนโลกได้ในสื่อต่าง ๆ โดยระบุว่าดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ดวงนี้มีขนาดใหญ่กว่าความสูงของตึกเอ็มไพร์สเตต  หากชนโลกก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อโลก อาจมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดความตื่นตระหนกในขณะนี้นั้น

รอยทางของดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งใส่โลกที่เมืองเชลยาบินสก์ ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2556 เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากดาวเคราะห์น้อยขนาด 20 เมตรพุ่งชน 



สมาคมดาราศาสตร์ไทยขอชี้แจงตามข้อเท็จจริงว่า ดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 จะไม่พุ่งชนโลกและไม่ก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายใดๆ ต่อโลกในวันที่  10 สิงหาคมนี้อย่างแน่นอน

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อย และดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23


ดาวเคราะห์น้อยคืออะไร?
ดาวเคราะห์น้อยคือวัตถุในระบบสุริยะชนิดหนึ่งที่เป็นวัตถุแข็งประเภทหินที่มีขนาดใหญ่ระดับตั้งแต่หลายเมตรขึ้นไป แต่เล็กกว่าระดับดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อยดวงที่ใหญ่ที่สุดมีขนาด 500 กิโลเมตร

มีดาวเคราะห์น้อยมากแค่ไหน?
นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์น้อยแล้วไม่ต่ำกว่าสองแสนดวง ส่วนใหญ่โคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี

ดาวเคราะห์น้อยเป็นอันตรายต่อโลกหรือไม่?
เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่มีวงโคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีซึ่งห่างจากวงโคจรโลกมาก จึงไม่มีผลใด ๆ ต่อโลก มีเพียงดาวเคราะห์น้อยบางส่วนมีวงโคจรใกล้เคียงหรือตัดกับวงโคจรของโลก ที่เรียกว่า ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (Near-Earth Asteroid) ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง
ในจำนวนดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก บางดวงมีขนาดใหญ่ในระดับที่เป็นอันตรายหากชนโลก และมีวงโคจรใกล้วงโคจรโลกได้ใกล้กว่า 0.05 หน่วยดาราศาสตร์ (19.5 เท่าของระยะทางระหว่างโลกถึงดวงจันทร์) ดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มนี้จะถูกจัดว่าเป็น ดาวเคราะห์น้อยอันตรายยิ่ง (Potentially Hazardous Asteroid) ปัจจุบันพบดาวเคราะห์อันตรายยิ่งแล้วไม่น้อยกว่า 1,600 ดวง

ดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 เป็นอันตรายแค่ไหน?
ดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 180-570 เมตร และมีโอกาสเข้าโลกได้มากกว่า 0.05 หน่วยดาราศาสตร์ จึงจัดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยอันตรายยิ่งดวงหนึ่ง ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ หากชนโลกจริง ก็จะสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่จากการคำนวณโคจรของดาวเคราะห์น้อยโดยนักดาราศาสตร์ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะไม่ชนโลกในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 นี้อย่างแน่นอน แต่จะเข้าใกล้โลกที่สุดด้วยระยะทาง 7.5 ล้านกิโลเมตร ในเวลา 14:22 น. ตามเวลาประเทศไทย

มีโอกาสเพียงใดที่การคำนวณการโคจรนี้อาจผิดพลาด แล้วดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 ชนโลกจริงในวันที่ 10 นี้?
โอกาสเป็นศูนย์ 
แม้การคำนวณต่าง ๆ มีความคลาดเคลื่อนอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นเพียงช่วงแคบ ๆ ไม่มีโอกาสที่จะพลาดถึงระดับที่เส้นทางการเคลื่อนที่ผิดไปหลายล้านกิโลเมตรภายในเวลาไม่กี่วัน เป็นไปไม่ได้

ขณะนี้มีวัตถุดวงใดบ้างที่มีทิศทางจะชนโลกในอนาคตอันใกล้?
ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีวัตถุขนาดใหญ่ดวงใดที่จะชนโลก อย่างไรก็ตาม การที่ยังไม่พบไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสที่จะมีวัตถุใดพุ่งชนโลก เพราะอาจมีวัตถุบางสิ่งหรือดาวเคราะห์น้อยบางดวงที่นักดาราศาสตร์ยังไม่พบมีทิศทางพุ่งมายังโลกก็เป็นได้ ดังนั้น นักดาราศาสตร์จึงยังคงเฝ้ามองท้องฟ้าทุกคืนเพื่อหาวัตถุนอกโลกที่ยังไม่รู้จักที่อาจคุกคามโลกในอนาคต 

หากดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 ไม่เป็นอันตรายจริง แล้วเหตุใดองค์การนาซาจึงออกประกาศเตือน?
โดยปรกติองค์การนาซามีการประกาศแจ้งอยู่เสมอว่า จะมีดาวเคราะห์น้อยดวงใดเข้ามาเฉียดโลกบ้าง ดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 มีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงมีการประกาศเน้นย้ำกว่าปรกติเล็กน้อย โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า วัตถุใหญ่ระดับนี้ หากชนโลกจริง จะก่อให้เกิดความเสียหายระดับใด ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้คนตระหนักทราบถึงภัยคุกคามจากท้องฟ้าประเภทนี้ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้ประกาศว่าดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 จะชนโลกในวันที่ 10 สิงหาคมนี้

ในเมื่อระยะเฉียดของ 2006 คิวคิว 23 อยู่ในระยะปลอดภัย เหตุใดจึงยังจัดให้เป็นดาวเคราะห์น้อยอันตรายอยู่?
เพราะการที่ตอนนี้ปลอดภัยไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยไปตลอด
ทั้งนี้เพราะโลกและดาวเคราะห์น้อยต่างเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ตามวงโคจรของตน และสองวงนี้มีจุดที่เข้าใกล้กันอยู่  การเข้าเฉียดในครั้งนี้จึงไม่ใช่การเฉียดครั้งเดียว ในอนาคตยังจะเกิดซ้ำอีกเรื่อย ๆ การเคลื่อนที่เข้าใกล้กันแต่ละครั้ง ความโน้มถ่วงของโลกจะรบกวนการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยเล็กน้อย ทำให้เส้นทางการโคจรเบี่ยงเบนไป ทำให้ในระยะยาววงโคจรของวัตถุทั้งสองอาจมาตัดกันได้ และเมื่อใดที่วัตถุทั้งสองเคลื่อนที่มาอยู่ที่จุดตัดนี้พร้อมกัน ก็จะเกิดการชนกันนั่นเอง นักดาราศาสตร์จึงต้องติดตามและคำนวณหาวงโคจรซ้ำอยู่เสมอ เพื่อประเมินความเสี่ยงในอนาคตและหาทางรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป


ลิงก์ที่อาจเป็นประโยชน์

ข้อมูลจำเพาะของดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 จากศูนย์ดาวเคราะห์น้อย
นาซ่าเตือนด่วน ดาวเคราะห์พุ่งเฉียดโลก ระทึก 10 ส.ค. – กูรูไทยยันโลกไม่บึ้ม (คลิป)
จริงหรือมั่ว? นาซ่าเตือน! อย่าประมาทดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ทำเมืองพินาศ EP.512 ส.ค. 62
หน่วยงานวิทย์ เพจวิทย์ นับสิบ กระหน่ำแก้ความเข้าใจผิด กรณีดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23
10สิงหา ดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลก ตื่นเต้นได้อย่าตกใจ ไม่ชนแน่นอน