วันดาวเคราะห์น้อยสากล
ทราบหรือไม่ วันที่ 30 มิถุนายนของทุกปี คือ “วันดาวเคราะห์น้อยสากล” ถ้าใครไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อนก็คงไม่แปลก เพราะเพิ่งมีการกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อไม่ถึงสิบปีมานี้เอง
วันดาวเคราะห์น้อยสากลก่อตั้งขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์และผู้สนใจกลุ่มหนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นสำนึกของผู้คนให้ตระหนักทราบถึงอันตรายจากดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก และร่วมกันศึกษาหาหนทางป้องกัน โดยถือเอาวันที่ 30 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ตุงกุสคาเมื่อปี 2451 เป็นวันดาวเคราะห์น้อยสากล
เมื่อเช้าตรู่ของวันที่30 มิถุนายน 2451 ได้เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ไซบีเรีย ใกล้แม่น้ำตุงกุสคา ทางตอนกลางของประเทศรัสเซีย การระเบิดในครั้งนั้นรุนแรงเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นที 30 เมกะตัน มีรายงานว่าแม้แต่คนที่อยู่ถึงเกาะอังกฤษก็ยังสัมผัสคลื่นอากาศจากแรงระเบิดได้ แรงสั่นสะเทือนแผ่ไกลจนเครื่องวัดคลื่นไหวสะเทือนทั่วทวีปเอเชียและยุโรปตรวจวัดได้ การสำรวจจุดเกิดเหตุในอีกหลายปีให้หลัง พบว่าป่าไม้กว่า 2,000 ตารางกิโลเมตรราบเป็นหน้ากลอง และมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าการระเบิดครั้งนั้นเกิดจากอุกกาบาตยักษ์หรือดาวเคราะห์น้อยขนาดประมาณ 60 เมตรพุ่งชน ดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นได้ระเบิดกลางอากาศเหนือพื้นดินประมาณ 6-10 กิโลเมตร
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ“เหตุการณ์ตุงกุสคา” เป็นเหตุการณ์ชนโลกที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ได้ โชคดีที่บริเวณดังกล่าวไม่มีผู้คนอยู่อาศัย จึงไม่มีรายงานว่ามีคนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ดาวเคราะห์น้อยฟังชื่อเหมือนกับเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก แต่ไม่ใช่ ดาวเคราะห์น้อยไม่ใช่ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อยเป็นบริวารดวงอาทิตย์ประเภทหนึ่ง เป็นวัตถุแข็งที่มีขนาดตั้งแต่หนึ่งเมตรขึ้นไป แต่มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์แคระ ดาวเคราะห์น้อยจึงมีช่วงขนาดกว้างมาก ตั้งแต่เท่าโอ่งน้ำจนถึงใหญ่ได้หลายร้อยกิโลเมตรเลยทีเดียว
ในระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์น้อยที่พบแล้วหลายแสนดวงส่วนใหญ่มีวงโคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี เรียกว่าดาวเคราะห์น้อยแถบหลัก แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่ได้มีวงโคจรในแถบหลัก บางส่วนมีวงโคจรคล้ายโลก และบางส่วนถึงกับโคจรตัดกับวงโคจรโลก กลุ่มสุดท้ายนี่เองที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยพวกนี้จะชนโลก
ขณะนี้นักดาราศาสตร์กำลังเฝ้าค้นหาบันทึก และติดตามดาวเคราะห์น้อยทุกดวง โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในประเภทดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก
ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกหมายถึงดาวเคราะห์น้อยที่มีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดน้อยกว่า 1.3 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ (พ.ศ.2565) พบแล้วไม่น้อยกว่า 29,000 ดวง ในจำนวนนี้มีไม่น้อยกว่า 2,000 ดวงที่ใกล้มากจนต้องต้องจัดอยู่ในประเภท “ดาวเคราะห์น้อยอันตรายยิ่ง” (potentially hazardous asteroid) หมายความว่ามีโอกาสเข้าใกล้โลกมากกว่า 0.05 หน่วยดาราศาสตร์ (7,500,000 กิโลเมตร) และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 140 เมตร พวกนี้จัดเป็นกลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ
เหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยชนโลกครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นและบันทึกได้เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 ที่เมืองเชลยาบินสก์ ประเทศรัสเซีย เกิดจากดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดประมาณ 20 เมตรดวงหนึ่งพุ่งเข้าใส่แล้วระเบิดกลางอากาศ แม้ดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นจะตกไม่ถึงพื้นโลกทั้งดวง แต่แรงระเบิดก็ส่งคลื่นกระแทกรุนแรงจนทำให้บ้านเรือนเสียหายจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายพันคน
นักดาราศาสตร์ประเมินว่าโลกถูกวัตถุที่มีขนาด 140 เมตรชนเฉลี่ยทุก 20,000 ปี ส่วนดาวเคราะห์น้อยที่ชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อนจนเป็นเหตุให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์คาดว่ามีขนาดประมาณ 10 กิโลเมตร เหตุการณ์ระดับนี้เกิดขึ้นทุก 100-200 ล้านปี
จนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่ามีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ดวงใดที่จะชนโลกในอนาคตอันใกล้
แม้จะยังไม่พบแต่ไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีความเป็นไปได้ที่อาจยังมีดาวเคราะห์น้อยอันตรายดวงอื่นที่นักวิทยาศาสตร์ยังตรวจไม่พบก็เป็นได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องค้นหาและศึกษากันต่อไป
และนี่คือความสำคัญของ“วันดาวเคราะห์น้อยสากล”
วันดาวเคราะห์น้อยสากล
เหตุการณ์ตุงกุสคา
เมื่อเช้าตรู่ของวันที่
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ
ดาวเคราะห์น้อยคืออะไร
ดาวเคราะห์น้อย
ในระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์น้อยที่พบแล้วหลายแสนดวง
ดาวเคราะห์น้อยอันตราย
ขณะนี้นักดาราศาสตร์กำลังเฝ้าค้นหา
ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกหมายถึง
เหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยชนโลกครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นและบันทึกได้
นักดาราศาสตร์ประเมินว่า
จนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่ามีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ดวงใดที่จะชนโลกในอนาคตอันใกล้
แม้จะยังไม่พบ
และนี่คือความสำคัญของ