สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ซูเปอร์มูน ใหญ่จริงหรือ

ซูเปอร์มูน ใหญ่จริงหรือ

16 พฤษภาคม 2565 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 19 กันยายน 2567
หลายปีที่ผ่านมา มีชื่อปรากฏการณ์ท้องฟ้าใหม่เกิดขึ้นตามสื่อต่าง ๆ ให้ได้ยินบ่อยครั้ง นั่นคือ ซูเปอร์มูน เรามักจะได้ยินการประชาสัมพันธ์ว่าจะเกิดซูเปอร์มูนในวันที่นั้นวันที่นี้ ในวันนั้นดวงจันทร์จะเต็มดวงและมีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ เป็นจันทร์เพ็ญที่ใหญ่ที่สุดในรอบกี่เดือนกี่ปีก็ว่ากันไป ให้ประชาชนเฝ้าดู เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าชม หากพลาดแล้วจะอดดูอีกนาน ฯลฯ

ซูเปอร์มูนคืออะไร


คำจำกัดความคร่าว ๆ ของซูเปอร์มูนก็คือ จันทร์เพ็ญที่มีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ 

ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ดังนั้นในแต่ละเดือนก็จะมีช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกและช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลก ช่วงไหนอยู่ใกล้โลกก็ย่อมปรากฏเป็นดวงใหญ่กว่าช่วงที่อยู่ห่างจากโลก ยิ่งถ้าคืนไหนดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกแล้วยังตรงกับจันทร์เพ็ญด้วย จันทร์เพ็ญในคืนนั้นก็จะทั้งใหญ่ทั้งสว่างกว่าจันทร์เพ็ญครั้งอื่น นั่นแหละ ซูเปอร์มูน 


ประเด็นที่ต้องมาตั้งคำถามคือ 1. มันใหญ่จริงหรือ? 2. มันน่าดูแค่ไหน? และ 3. มันเกิดยากแค่ไหน?

ข้อแรกตอบง่าย จริง ขนาดปรากฏของดวงจันทร์ช่วงที่อยู่ใกล้ที่สุดจะใหญ่กว่าช่วงที่อยู่ไกลที่สุดราว 12 เปอร์เซ็นต์ หากวัดด้วยเครื่องมือวัดก็จะเห็นความแตกต่างได้จริง แต่การแยกแยะความแตกต่างด้วยด้วยตาเปล่าไม่น่าจะง่ายนัก คนที่ดูดวงจันทร์บ่อย ๆ หรือสายตาดีจริง ๆ ก็อาจสังเกตได้ว่าใหญ่กว่าปกติจริง แต่คงมีไม่มากนักที่สังเกตได้ 

มาทดลองกันดู เหรียญ 50 สตางค์ใหญ่กว่าเหรียญ 25 สตางค์ 12 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน หากนำสองเหรียญนี้มาวางใกล้ ๆ กันย่อมสังเกตความแตกต่างกันได้ทุกคน ดวงจันทร์บนท้องฟ้ามีขนาดปรากฏประมาณครึ่งองศาซึ่งใกล้เคียงกับขนาดของเหรียญ 25 สตางค์ที่อยู่ห่างออกไป เมตร ทีนี้ลองเอาเหรียญ 25 สตางค์แปะบนกระดาษขาวแล้วให้หันให้เพื่อนดูโดยถือกระดาษห่างจากตาเพื่อน เมตรโดยไม่ต้องบอกว่าเป็นเหรียญอะไร หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือน ทำแบบเดียวกันกับเหรียญ 50 สตางค์ แล้วถามเพื่อนว่าเหรียญที่ดูครั้งใดใหญ่กว่า จะเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกความแตกต่าง การสังเกตให้เห็นความใหญ่พิเศษของดวงจันทร์ในคืนซูเปอร์มูนก็ยากไม่ต่างกัน

ขนาดเปรียบเทียบระหว่างดวงจันทร์ช่วงที่อยู่ใกล้โลกที่สุดกับดวงจันทร์ช่วงที่อยู่ไกลโลกที่สุด (จาก Robert Vanderbei)

อย่าลืมว่าตัวเลข 12 เปอร์เซ็นต์ที่ยกมา คือความแตกต่างระหว่างขนาดปรากฏของดวงจันทร์ช่วงใกล้สุดกับช่วงไกลสุด แต่ในความเป็นจริงเราจะไม่มีทางเห็นจันทร์เพ็ญช่วงใกล้สุดกับช่วงไกลสุดอยู่ห่างกันแค่เดือนสองเดือนเลย ขนาดปรากฏของจันทร์เพ็ญในวันซูเปอร์มูนกับจันทร์เพ็ญในครั้งก่อนหน้าหรือครั้งถัดไปจะต่างกันน้อยมาก นั่นจะยิ่งทำให้การสังเกตความแตกต่างยิ่งยากขึ้นไปอีกหลายเท่า

ถึงตอนนี้ทุกคนคงได้คำตอบข้อที่ ในใจแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากเราสังเกตซูเปอร์มูนตั้งแต่เริ่มขึ้นจากขอบฟ้าตอนพลบค่ำ อาจรู้สึกว่ามันช่างใหญ่โตมโหฬารเสียจริง ๆ ดูราวกับว่าดวงจันทร์ใหญ่กว่าปกติถึงเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว ครั้นเวลาผ่านไป ดวงจันทร์ลอยสูงขึ้นกลับดูเล็กลง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากภาพลวงตา ภาพดวงจันทร์ที่ขอบฟ้าที่ดูใหญ่เป็นความใหญ่ในความรู้สึกของเราเอง ดวงอาทิตย์ที่เพิ่งขึ้นจากขอบฟ้าหรือใกล้จะลับขอบฟ้าก็ดูใหญ่กว่าปกติเหมือนกันทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้ใหญ่ขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันทั้งกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ไม่เกี่ยวกับความเป็นซูเปอร์มูนแต่อย่างใด

เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน


หากจะทราบว่าปรากฏการณ์ซูเปอร์มูนเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน เราต้องมาดูนิยามของซูเปอร์มูนให้ชัดเจนขึ้นอีกสักนิดว่ามีคำจำกัดความไว้อย่างไร 

ความจริงแล้ว คำว่าซูเปอร์มูนนี้ ไม่ใช่ศัพท์ดาราศาสตร์เสียทีเดียว คุณไม่ต้องไปเปิดหานิยามของคำนี้จากพจนานุกรมดาราศาสตร์เล่มใด เพราะจะไม่พบ คำนี้เริ่มใช้เป็นครั้งแรกโดยโหรคนหนึ่งชื่อ ริชาร์ด โนลล์ เพื่อใช้ในการพยากรณ์เหตุเภทภัยต่าง ๆ ตามประสาโหร เขานิยามว่าซูเปอร์มูนคือดวงจันทร์ขณะจันทร์เพ็ญหรือจันทร์ดับที่อยู่ห่างจากโลกภายใน 90 เปอร์เซ็นต์ของระยะใกล้ที่สุดของวงโคจร  อธิบายด้วยตัวอักษรไม่ค่อยเห็นภาพ ดูรูปดีกว่า

แผนภูมิวงโคจรของดวงจันทร์ นิยามของซูเปอร์มูนของ ริชาร์ด โนลล์ ผู้ใช้คำนี้เป็นครั้งแรก ระบุว่า ถ้าจันทร์เพ็ญหรือจันทร์ดับขณะที่อยู่ห่างจากโลกน้อยกว่า 0.1 (D d) ถือว่าเป็นซูเปอร์มูน  


ระยะใกล้โลกที่สุดและระยะไกลโลกที่สุดของดวงจันทร์ในแต่ละเดือนไม่คงที่เสียทีเดียว แต่มีความผันแปรเล็กน้อย การคำนวนจึงต้องใช้ตัวเลขจุดไกลสุดและจุดใกล้สุดของเดือนนั้น ๆ มาคำนวณ ตัวอย่างเช่น ดวงจันทร์ในเดือนนี้มีจุดไกลโลกที่สุดในวงโคจร 405,285 กิโลเมตร และมีจุดใกล้โลกที่สุด 360,298 กิโลเมตร ระยะจำกัดของซูเปอร์มูนจึงเป็น 364,796 กิโลเมตร ถ้าเกิดจันทร์เพ็ญหรือจันทร์ดับขณะอยู่ห่างจากโลกไม่เกิน 364,796 กิโลเมตร ก็จะถือเป็นซูเปอร์มูน 

ต่อมาวงการดาราศาสตร์ก็รับคำนี้เข้ามา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสุนทรียรสในการดูดาว ไม่ได้ใช้ในการพยากรณ์ แต่ละสำนักอาจเปลี่ยนนิยามให้ต่างไปเล็กน้อย เช่น วารสารสกายแอนด์เทเลสโกป ระบุว่าซูเปอร์มูนคือจันทร์เพ็ญที่เกิดขึ้นที่ระยะห่างจากโลกน้อยกว่า 358,884 กิโลเมตร ส่วนเว็บ timeanddate.com ระบุว่าซูเปอร์มูนคือจันทร์เพ็ญที่เกิดขึ้นที่ระยะห่างจากโลกน้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร ไม่ว่าจะใช้นิยามใด ความหมายก็ยังคงไปในทิศทางเดียวกันคือ จันทร์เพ็ญเมื่อดวงจันทร์อยู่ใกล้ 

หากยึดถือตามคำนิยามของต้นตำหรับ จะพบว่าปีหนึ่งอาจเกิดซูเปอร์มูนขึ้นได้ถึง 3-4 ครั้งเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าบ่อยมาก 

โปรดสังเกตว่า นิยามซูเปอร์มูนต้นตำหรับใช้ได้กับทั้งจันทร์เพ็ญและจันทร์ดับ จึงมีผู้สร้างคำใหม่เพื่อแยกแยะจันทร์ดับกับจันทร์เพ็ญขึ้นไปอีก เป็น super new Moon (ซูเปอร์มูนจันทร์ดับ) กับ super full Moon (ซูเปอร์มูนจันทร์เพ็ญ) นอกจากนี้หากไปเกิดร่วมกับบลูมูน ก็เกิดคำว่า super blue Moon เพิ่มเข้ามาอีก เมื่อเกิดร่วมกับจันทรุปราคา ก็เรียก super blood Moon ถ้าเกิดร่วมกับจันทรุปราคาและบลูมูน ก็มีชื่อเรียกสุดอลังการว่า super blue blood Moon นับว่าปรากฏการณ์จืด ๆ อย่างซูเปอร์มูนสามารถสร้างลูกหลานคำออกมาได้มากมายเลยทีเดียว

ความน่าสนใจของซูเปอร์มูน


การที่ซูเปอร์มูนไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยาก ผู้ที่ออกไปชมจันทร์ในคืนซูเปอร์มูนควรที่จะเข้าใจในจุดนี้เพื่อจะได้ไม่คาดหวังสูงเกินไป ควรดูดวงจันทร์ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่เฝ้าคอยด้วยภาพฝันลม ๆ แล้ง ๆ ความผิดหวังไม่ใช่เรื่องน่ารื่นรมย์ 

นอกจากเป็นเรื่องที่ผู้สนใจดาราศาสตร์และการดูดาวจะต้องทำความเข้าใจแล้ว หน่วยงานด้านดาราศาสตร์และสื่อมวลชนต่าง ๆ ก็ควรระมัดระวังในการเผยแพร่ด้วย ไม่ควรกระพือข่าวให้ใหญ่โตอลังการเกินจริง ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ซูเปอร์มูนเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรให้ใส่ใจและจดจำมากนัก มองข้ามไปเสียเลยก็ดี บนท้องฟ้ายังมีปรากฏการณ์อื่นที่น่าสนใจอีกมากให้ชมให้กล่าวถึง น่าสนใจมากกว่าจันทร์เพ็ญที่ต้องมีคนคอยกำกับว่า "ดูดี ๆ มันใหญ่กว่าปกตินะเห็นไหม"

อ่านเพิ่มเติม

 จันทร์เพ็ญเมื่อดวงจันทร์ใกล้โลก