สมาคมดาราศาสตร์ไทย

บลูมูน แมนเชสเตอร์ซิตี้ และจันทร์เพ็ญ

บลูมูน แมนเชสเตอร์ซิตี้ และจันทร์เพ็ญ

22 พฤษภาคม 2565 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 29 สิงหาคม 2566

เมื่อทีมแมนเชสเตอร์ซิตี้คว้าแชมป์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก รอบสนามซิตี้ออฟแมนเชสเตอร์ต่างคราคร่ำไปด้วยงานเฉลิมฉลองที่อบอวลไปด้วยเสียงเพลง “บลูมูน” ซึ่งเป็นเพลงประจำทีม

บลูมูนจะเกี่ยวอะไรกับแมนเชสเตอร์ซิตี้คงต้องไปถามแฟนคลับ แต่ที่อยากเก็บมาเล่าในที่นี้ก็คือ บลูมูนที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์ 


คำว่า บลูมูน (blue Moon) แปลตรงตัวว่าดวงจันทร์สีน้ำเงิน แต่คำนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสีของดวงจันทร์  หากหมายถึงจันทร์เพ็ญที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองในหนึ่งเดือนปฏิทิน ซึ่งจะว่าไปก็แทบไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษในทางดาราศาสตร์ นอกจากเอาไว้ทายเล่นกันสนุก 

บลูมูนเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เดือนในปฏิทินมีความยาว 28-31 วัน ซึ่งส่วนใหญ่ยาวกว่าเดือนจันทรคติ (วัดจากจันทร์ดับครั้งหนึ่งถึงจันทร์ดับครั้งถัดไป) ที่มีความยาว 29.5 วันอยู่เล็กน้อย เราจึงมีจันทร์เพ็ญเดือนละครั้ง โดยวันเพ็ญจะเลื่อนถอยหลังมาเดือนละ 1-2 วันเสมอ คนไทยเราคุ้นเคยกับสิ่งนี้เป็นอย่างดีเพราะต้องเปิดปฏิทินหาวันพระอยู่ทุกเดือน เมื่อถึงเดือนที่วันเพ็ญเลื่อนไปถึงหัวเดือน จันทร์เพ็ญครั้งถัดมาก็จะไปตกเอาปลายเดือนของเดือนเดียวกัน ทำให้เดือนนั้นมีจันทร์เพ็ญสองครั้ง จันทร์เพ็ญครั้งที่สองของเดือนปฏิทินนี้เองที่เรียกว่า บลูมูน 

แต่ทราบหรือไม่ว่า นี่ไม่ใช่ความหมายดั้งเดิมของคำว่าบลูมูน แล้วความหมายเดิมคืออะไร

คำว่าบลูมูนปรากฏในวัฒนธรรมชาวตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกันมานับร้อยปีแล้ว โดยใช้ในปฏิทินฤดูกาลของฝรั่งซึ่งเริ่มต้นปีที่วันเหมายันและแบ่งปีหนึ่งออกเป็นสี่ฤดู เนื่องจากปีหนึ่งยาวราว 365.25 วัน ปีหนึ่งจึงยาว 12.4 เดือนจันทรคติ นั่นทำให้ปกติปีหนึ่งจะเกิดจันทร์เพ็ญ 12 ครั้ง ฤดูหนึ่งมีจันทร์เพ็ญ ครั้ง แต่บางปีที่เกิดจันทร์เพ็ญ 13 ครั้งก็จะมีฤดูใดฤดูหนึ่งมีจันทร์เพ็ญ ครั้ง ทีนี้จันทร์เพ็ญในแต่ละครั้งในรอบปีของฝรั่งมีชื่อเรียกเฉพาะที่สอดคล้องกับเทศกาลหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ๆ เช่น จันทร์เพ็ญในเดือนกุมภาพันธ์ก็เรียก snow Moon จันทร์เพ็ญในเดือนตุลาคมก็เรียก hunter’s Moon บางชื่อก็ผูกติดกับความเป็นจันทร์เพ็ญท้ายฤดู ดังนั้นเมื่อมีจันทร์เพ็ญเพิ่มเข้ามาในฤดูหนึ่ง ก็จะเรียกจันทร์เพ็ญที่สามในฤดูนั้นว่า บลูมูน ส่วนชื่อเรียกเดิมของจันทร์เพ็ญที่อยู่ต่อมาก็เลื่อนไปใช้กับจันทร์เพ็ญครั้งถัดไป ด้วยวิธีนี้ชื่อจันทร์เพ็ญก็จะยังคงสอดคล้องกับเทศกาลและกิจกรรมต่อไป 

ส่วนความหมายของบลูมูนที่หมายถึงจันทร์เพ็ญที่สองของเดือนเพิ่งเกิดขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง เรื่องราวเริ่มขึ้นในวารสารสกายแอนด์เทเลสโกปฉบับเดือนกรกฎาคม ปี 1943 ในคอลัมน์ตอบคำถาม ผู้เขียนคนหนึ่งชื่อ ลอเรนซ์ เจ. เลเฟลอร์ ได้เขียนถึงบลูมูนว่า "บางปีจะมีจันทร์เพ็ญ 13 ครั้ง" ต่อมาอีกสามปี บทความ "Once in Blue Moon" ในวารสารฉบับเดือนมีนาคม 1946 ที่เขียนโดย เจมส์ ฮิวจ์ พรูเอตต์ ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นและเป็นนักเขียนประจำของสกายแอนด์เทเลสโกป ได้อ้างอิงถึงข้อความของเลเฟลอร์ และเขาตีความต่อโดยอธิบายว่าในปีที่มีจันทร์เพ็ญ 13 ครั้ง จะมีเดือนหนึ่งที่มีจันทร์เพ็ญสองครั้ง จันทร์เพ็ญครั้งที่สองของเดือนนี้เองที่เรียกว่า บลูมูน 

นิยามใหม่ของบลูมูนเกิดขึ้น ณ จุดนั้น เป็นนิยามที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดของนักเขียนคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่วารสารสกายแอนด์เทเลสโกปก็ใช้นิยามใหม่นี้ต่อมาจนติดอยู่ในความเข้าใจของคนในวงการดาราศาสตร์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนคนที่รู้ความหมายเดิมของบลูมูนจะเหลือสักกี่คนก็ไม่ทราบได้

ข้อสังเกต
บลูมูนทั้งสองนิยาม มีโอกาสเกิดขึ้นเท่ากันคือเกิดขึ้นได้ 37 ครั้งในหนึ่งศตวรรษ
บลูมูนทั้งสองนิยามไม่จำเป็นต้องเกิดตรงกัน และส่วนใหญ่ก็ไม่ตรงกัน
บลูมูนนิยามเดิมมีโอกาสเกิดขึ้นเพียงปีละไม่เกินหนึ่งครั้ง แต่บลูมูนในนิยามของสกายแอนด์เทเลสโกปอาจมีโอกาสเกิดสองครั้งในปีเดียวกัน 
บลูมูนในนิยามเดิมมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับวัฒนธรรม ส่วนบลูมูนในความหมายที่ใช้กันในปัจจุบันแทบไม่มีนัยสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เลย