สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วันดาวเคราะห์น้อยสากล

วันดาวเคราะห์น้อยสากล

3 พฤศจิกายน 2565 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 7 พฤศจิกายน 2565
ทราบหรือไม่ วันที่ 30 มิถุนายนของทุกปี คือ “วันดาวเคราะห์น้อยสากล” ถ้าใครไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อนก็คงไม่แปลก เพราะเพิ่งมีการกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อไม่ถึงสิบปีมานี้เอง 

วันดาวเคราะห์น้อยสากล ก่อตั้งขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์และผู้สนใจกลุ่มหนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นสำนึกของผู้คนให้ตระหนักทราบถึงอันตรายจากดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก และร่วมกันศึกษาหาหนทางป้องกัน โดยถือเอาวันที่ 30 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ตุงกุสคาเมื่อปี 2451 เป็นวันดาวเคราะห์น้อยสากล

เหตุการณ์ตุงกุสคา


เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 30 มิถุนายน 2451 ได้เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ไซบีเรีย ใกล้แม่น้ำตุงกุสคา ทางตอนกลางของประเทศรัสเซีย การระเบิดในครั้งนั้นรุนแรงเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นที 30 เมกะตัน มีรายงานว่าแม้แต่คนที่อยู่ถึงเกาะอังกฤษก็ยังสัมผัสคลื่นอากาศจากแรงระเบิดได้ แรงสั่นสะเทือนแผ่ไกลจนเครื่องวัดคลื่นไหวสะเทือนทั่วทวีปเอเชียและยุโรปตรวจวัดได้ การสำรวจจุดเกิดเหตุในอีกหลายปีให้หลัง พบว่าป่าไม้กว่า 2,000 ตารางกิโลเมตรราบเป็นหน้ากลอง  และมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าการระเบิดครั้งนั้นเกิดจากอุกกาบาตยักษ์หรือดาวเคราะห์น้อยขนาดประมาณ 60 เมตรพุ่งชน ดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นได้ระเบิดกลางอากาศเหนือพื้นดินประมาณ 6-10 กิโลเมตร 

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เหตุการณ์ตุงกุสคา” เป็นเหตุการณ์ชนโลกที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ได้ โชคดีที่บริเวณดังกล่าวไม่มีผู้คนอยู่อาศัย จึงไม่มีรายงานว่ามีคนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ต้นไม้ในป่าทังกัสกาถูกแรงบางอย่างอัดจนล้มไปในทางเดียวกัน  ทิศทางของแรงอัดมาจากจุดศูนย์กลางการระเบิด ภาพถ่ายโดย เลโอนาร์ด คูลิก เมื่อปี 2472   (จาก Wikimedia Commons)


หลุมอุกกาบาตแบริงเจอร์ อยู่ที่รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา มีขนาดกว้างถึงหนึ่งกิโลเมตรกว่า ลึก 170 เมตร คาดว่าเกิดจากดาวเคราะห์น้อยขนาด 50 เมตรชนเมื่อ 50,000 ปีก่อน  


ดาวเคราะห์น้อยคืออะไร


ดาวเคราะห์น้อย ฟังชื่อเหมือนกับเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก แต่ไม่ใช่ ดาวเคราะห์น้อยไม่ใช่ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อยเป็นบริวารดวงอาทิตย์ประเภทหนึ่ง เป็นวัตถุแข็งที่มีขนาดตั้งแต่หนึ่งเมตรขึ้นไป แต่มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์แคระ ดาวเคราะห์น้อยจึงมีช่วงขนาดกว้างมาก ตั้งแต่เท่าโอ่งน้ำจนถึงใหญ่ได้หลายร้อยกิโลเมตรเลยทีเดียว

ในระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์น้อยที่พบแล้วหลายแสนดวง ส่วนใหญ่มีวงโคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี เรียกว่าดาวเคราะห์น้อยแถบหลัก แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่ได้มีวงโคจรในแถบหลัก บางส่วนมีวงโคจรคล้ายโลก และบางส่วนถึงกับโคจรตัดกับวงโคจรโลก กลุ่มสุดท้ายนี่เองที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยพวกนี้จะชนโลก

ดาวเคราะห์น้อยอันตราย


ขณะนี้นักดาราศาสตร์กำลังเฝ้าค้นหา บันทึก และติดตามดาวเคราะห์น้อยทุกดวง โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในประเภทดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก 

ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกหมายถึง ดาวเคราะห์น้อยที่มีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดน้อยกว่า 1.3 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ (พ.ศ.2565) พบแล้วไม่น้อยกว่า 29,000 ดวง ในจำนวนนี้มีไม่น้อยกว่า 2,000 ดวงที่ใกล้มากจนต้องต้องจัดอยู่ในประเภท “ดาวเคราะห์น้อยอันตรายยิ่ง” (potentially hazardous asteroid) หมายความว่ามีโอกาสเข้าใกล้โลกมากกว่า 0.05 หน่วยดาราศาสตร์ (7,500,000 กิโลเมตร) และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 140 เมตร พวกนี้จัดเป็นกลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ

ดาวเคราะห์น้อยเทาเททิส ดาวเคราะห์น้อยอันตรายอันดับต้น ๆ ที่อาจชนโลกในอนาคต ถ่ายโดยยานฉางเอ๋อ 2  


เหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยชนโลกครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นและบันทึกได้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 ที่เมืองเชลยาบินสก์ ประเทศรัสเซีย เกิดจากดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดประมาณ 20 เมตรดวงหนึ่งพุ่งเข้าใส่แล้วระเบิดกลางอากาศ แม้ดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นจะตกไม่ถึงพื้นโลกทั้งดวง แต่แรงระเบิดก็ส่งคลื่นกระแทกรุนแรงจนทำให้บ้านเรือนเสียหายจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายพันคน

นักดาราศาสตร์ประเมินว่า โลกถูกวัตถุที่มีขนาด 140 เมตรชนเฉลี่ยทุก 20,000 ปี ส่วนดาวเคราะห์น้อยที่ชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อนจนเป็นเหตุให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์คาดว่ามีขนาดประมาณ 10 กิโลเมตร เหตุการณ์ระดับนี้เกิดขึ้นทุก 100-200 ล้านปี

จนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่ามีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ดวงใดที่จะชนโลกในอนาคตอันใกล้ 

แม้จะยังไม่พบ แต่ไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีความเป็นไปได้ที่อาจยังมีดาวเคราะห์น้อยอันตรายดวงอื่นที่นักวิทยาศาสตร์ยังตรวจไม่พบก็เป็นได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องค้นหาและศึกษากันต่อไป 

และนี่คือความสำคัญของ “วันดาวเคราะห์น้อยสากล”