สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อำเภอกันตัง, ดาวอังคาร

อำเภอกันตัง, ดาวอังคาร

3 มีนาคม 2555 โดย: วิษณุ เอื้อชูเกียรติ
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 6 ธันวาคม 2559
แล้วยังมี อำเภอจัตุรัส มี จังหวัดตาก ฯลฯ อยู่บนดาวอังคารอีกต่างหาก

คนไทยไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารแล้วหรือ

ถ้าใช่คงน่าตื่นเต้นทีเดียว แต่บทความนี้ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ ดังนั้นผมจึงไม่สามารถบอกได้ว่ามีคนไทยบนดาวอังคารจริง 

ถึงกระนั้น ผมก็สามารถบอกได้เต็มปากว่า มีชื่ออำเภอกันตังอยู่บนดาวอังคารแน่นอน พร้อมกับอำเภอและจังหวัดของเราอีกหลายแห่ง รวมทั้งมีชื่อสถานที่ที่เป็นภาษาไทยอยู่นอกโลกอีกจำนวนหนึ่งด้วย

เรื่องชื่อบ้านเมืองในประเทศไทยกับคำไทยไปนอกโลกนี้ หาได้เกี่ยวข้องกับสมาคมดาราศาสตร์ไทยแต่ประการใดไม่ อันที่จริงการตั้งชื่อภูมิสถานต่าง ๆ บนดาวเคราะห์และดวงจันทร์ในระบบสุริยะนี้ มีกำเนิดขึ้นมากว่า 300 ปีแล้ว ตั้งแต่มีการเรียกชื่อหลุม ชื่อทะเล บนดวงจันทร์ เริ่มจากงานของนักดาราศาสตร์ไม่กี่คนที่ต่างคนต่างสังเกตการณ์ บันทึก และตั้งชื่อกันเอาเอง มาจนยุคของอนุกรรมการแห่งสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

บาทหลวงนิกายเยซูอิตชื่อ ริชชิโอลี (1598-1671) ทำแผนที่ดวงจันทร์พร้อมชื่อหลุมและภูมิลักษณ์อื่น ๆ เป็นจำนวนมาก ชื่อที่หลวงพ่อริชชิโอลีตั้งไว้ เดี๋ยวนี้ก็ยังใช้เป็นมาตรฐานกันอยู่หลายชื่อ คริสเตียน ไฮเกนส์ (1629-1695) ตั้งชื่อ ซีร์ทิส เมเจอร์ (Syrtis Major) ให้กับปื้นดำขนาดใหญ่ที่สุดบนดาวอังคารที่มองเห็นจากโลก ไว้ตั้งแต่ปี 1650 การตั้งชื่อสถานที่บนดวงจันทร์และดาวอังคารเริ่มยุ่งยากขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 19 เมื่อมีผู้สร้างกล้องโทรทรรศน์กำลังสูงมากพอที่จะสังเกตเทห์ฟากฟ้าเหล่านั้นได้โดยละเอียด

ในปี 1907 การประชุมใหญ่สามัญของสภาสมาคมวิชาการสากลซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อสะสางเรื่องชื่อภูมิสถานบนดวงจันทร์ที่ใช้กันอย่างสับสนในขณะนั้น การเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องของกรรมการหลายท่าน (อาจจะเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ ระหว่างปี 1914 ถึง 1918) ทำให้อนุกรรมคณะนี้ไม่มีผลงานปรากฏ แต่งานพื้นฐานส่วนใหญ่ก็สำเร็จลุล่วงไปแล้ว

ดังนั้น เมื่อสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลตั้งคณะอนุกรรมการตั้งชื่อสำหรับดวงจันทร์และดาวอังคารขึ้น ในคราวเดียวกับการประชุมสถาปนาสหพันธ์ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ในปี 1919 งานตั้งชื่อก็ทำต่อได้โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะความต่อเนื่องของบุคลากรจากอนุกรรมการชุดก่อนหน้าซึ่งได้รับการแต่งตั้งเข้ามาในอนุกรรมการชุดใหม่นี้

ถึงจะไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ กว่ารายงานฉบับแรกจะออกมาก็ต้องรอถึงปี 1935 ด้วยการจัดพิมพ์ "Named Lunar Formations" ว่าด้วยชื่อภูมิสถานบนดวงจันทร์ จากนั้นจึงมีผลงานที่ละเอียดขึ้นออกมาอีกเป็นลำดับ

ดาวอังคารเป็นเทห์ฟากฟ้าแห่งที่สองที่ได้รับการกำหนดชื่อภูมิสถาน นักดาราศาสตร์ที่บุกเบิกในเรื่องนี้เป็นพิเศษคือเชียปาเรลลี ในปลายศตวรรษที่ 19 และขยายผลโดยแอนโทเนียดี เมื่อต้นศตวรรษที่ 20

ยุคอวกาศเปิดฉากขึ้นพร้อมกับการส่งสปุตนิก ดาวเทียมดวงแรกของโลก ขึ้นสู่อวกาศในปี 1957 ตามมาด้วยการสำรวจดวงจันทร์ในโครงการอะพอลโลของสหรัฐอเมริกา โครงการลูนา และซอนด์ ของสหภาพโซเวียต อีกทั้งยานอวกาศที่ถูกส่งไปสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่น เช่นยานชุดวอยเอเจอร์ มารีเนอร์ หรือยานกาลิเลโอ เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้งานตั้งชื่อของสหพันธ์กลายเป็นงานช้างไปโดยปริยาย เพราะคราวนี้นอกจากจะได้ข้อมูลดวงจันทร์และดาวอังคารที่ละเอียดขึ้นแล้ว ยังมีภาพจากดาวพุธ ศุกร์ กับดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี และเสาร์ โถมเข้ามาอีก

เมื่องานเพิ่ม คณะอนุกรรมการจึงต้องขยับขยาย มีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยสำหรับดวงจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และระบบสุริยะรอบนอก และเพิ่มกลุ่มสำหรับภูมิสถานบนดาวเคราะห์น้อยและดาวหางขึ้นใหม่ในปี 1984

พึงสังเกตว่า การตั้งชื่อสามารถทำได้เฉพาะกับดาวเคราะห์และดวงจันทร์ที่เป็นก้อนหิน รวมทั้งดาวเคราะห์น้อยเท่านั้น จะตั้งชื่อให้อะไรบนดาวเคราะห์แก๊สขนาดยักษ์—พฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส และเนปจูน—ไม่ได้ เพราะผิวนอกที่เราเห็นมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ชื่อที่ใช้ตั้ง มาจากชื่อสถานที่ ชื่อบุคคล ชื่อในวรรณกรรม และตำนาน จากทุกประเทศทั่วโลก ตัวอย่างเช่น เมื่อกำหนดให้ตั้งชื่อภูมิลักษณ์แบบเหวแคบลึกบนดาวศุกร์ (chasma – คาสมา) ตามชื่อเทพธิดาแห่งการล่าสัตว์ หรือเทพธิดาพระจันทร์ ชื่อแต่ละร่องก็จะเป็นชื่อตามแนวกำหนดนี้ อาทิ

Juno Chasma จูโนเป็นเทพีแห่งท้องฟ้าของโรมัน ที่คู่กับจูปิเตอร์
Aranyani Chasma อรัญญานีเป็นเทวีแห่งป่าของอินเดีย
Dewi Ratih Chasma เทวีรตีเป็นเทพธิดาพระจันทร์ของบาหลี
Nang-byon Chasma นางบยอน (?) เป็นเทพธิดาพระจันทร์ของชาวไทขาวในเวียตนาม
Diana Chasma ไดอานาเป็นเทพธิดาพระจันทร์และการล่าสัตว์ของโรมัน
Artemis Chasma อาร์เทมิสเป็นเทพธิดาพระจันทร์และการล่าสัตว์ของกรีก

ต่อไปนี้คือมาตรฐานล่าสุดสำหรับการตั้งชื่อภูมิสถานบนดาวเคราะห์ชั้นใน คือดาวพุธ-ศุกร์-อังคาร และดวงจันทร์ของโลก ที่กำหนดโดยของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (ดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ชั้นนอก ได้แก่ ดาวพฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส และเนปจูน กับดาวพลูโต ต่างมีมาตรฐานตั้งชื่อทั้งสิ้น แต่ไม่ได้นำมาลงในที่นี้)

ดาวพุธ

craterหลุมศิลปิน, คีตกวี, จิตรกร, นักเขียน ชื่อดัง ที่ล่วงลับไปแล้ว
monsภูเขามีแห่งเดียว เรียกว่า คาโลริส ภาษาละติน แปลว่า ร้อน
planitiaที่ราบต่ำชื่อดาวพุธ หรือเทพประจำดาวพุธ ในภาษาต่าง 
rupesผาชันชื่อเรือสำรวจที่พาไปสู่การค้นพบ คณะสำรวจทางวิทยาศาสตร์
vallisหุบเขาชื่อกล้องโทรทรรศน์วิทยุ


ดาวศุกร์

astrumพื้นที่รูปแฉกเทพธิดา (เบ็ดเตล็ด)
chasmaเหวแคบลึกเทพธิดาแห่งการล่าสัตว์ หรือเทพธิดาพระจันทร์
collesเนินเทพธิดาสมุทร
coronaทรงกลดเทพธิดาแห่งความอุดมสมบูรณ์ หรือแม่พระธรณี
craterหลุมกว้างกว่า 20 กม. ใช้ชื่อสตรีผู้มีชื่อเสียง 
ต่ำกว่า 20 กม. ใช้ชื่อสามัญของผู้หญิง
dorsumสันเขาเทพธิดาแห่งท้องฟ้า
farrumโครงสร้างทรงจานชื่อเทพธิดาวารี
fluctusรอยน้ำไหลเทพธิดาอื่น 
fossaร่องยาวตื้นเทพธิดาสงคราม
labyrinthusหุบเขาสลับซับซ้อนเทพธิดาทั่วไป
lineaรอยยาวเทพธิดาสงคราม
monsภูเขาเทพธิดาทั่วไป และนักวิทยาศาสตร์เรดาร์อีก คน
pateraแอ่งขอบไม่สม่ำเสมอสตรีผู้มีชื่อเสียง
planitiaที่ราบต่ำวีรสตรีในเทพปกรณัม
planumที่ราบสูงเทพธิดาแห่งความเจริญรุ่งเรื่อง
regioบริเวณสว่างหรือมืดเป็นพิเศษยักษิณี, ไทแทนเพศหญิง
rupesผาชันเทพธิดาแห่งเตาไฟหรือบ้านเรือน
tesseraพื้นแตกลายงาเทพธิดาแห่งชะตากรรมและโชคลาภ
terraแผ่นดินเทพธิดาแห่งความรัก
tholusเนินรูปโดมเทพธิดาอื่น 
undaeเนินเทพธิดาแห่งทะเลทราย
vallisหุบเขายาวเกิน 400 กม. คำเรียกดาวศุกร์ในภาษาต่าง ๆ ยาวน้อยกว่า 400 กม. เทพธิดาแห่งแม่น้ำ


ดวงจันทร์

crater, catena, dorsum, rimaหลุม, แคทีนา (แนวหลุม), สันเขา, รอยแยกหลุม ใช้ชื่อนักวิทยาศาสตร์ นักปราชญ์ ศิลปิน หรือนักสำรวจ ผู้มีชื่อเสียงที่ล่วงลับไปแล้ว นอกนั้นอาศัยชื่อตามหลุมใกล้ 
lacus, mare, palus, sinusทะเลสาบ, ทะเล, บึง, อ่าวคำละตินสำหรับภูมิอากาศ หรือคำนามธรรม
montesภูเขาชื่อเทือกเขาบนโลก หรือตามหลุมใกล้ 
rupesผาชันใช้ชื่อตามเทือกเขาใกล้ 
vallisหุบเขาใช้ชื่อตามภูมิสถานใกล้เคียง


ดาวอังคาร

craterหลุมขนาดใหญ่นักวิทยาศาสตร์ผู้มีส่วนสร้างความก้าวหน้าแก่การศึกษาดาวอังคาร, นักเขียนหรือคนอื่นที่มีผลงานเกี่ยวกับเรื่องของดาวอังคาร
หลุมขนาดเล็กชื่อเมืองในโลก ที่มีประชากรน้อยกว่า 100,000 คน
vallisหุบเขาขนาดใหญ่คำว่า ดาวอังคาร หรือ ดาว ในภาษาต่าง 
หุบเขาขนาดเล็กชื่อแม่น้ำในสมัยโบราณ หรือชื่อปัจจุบัน
other featuresภูมิลักษณ์อื่นใช้ชื่อจากจุดที่ใกล้ที่สุดในแผนที่ของเชียปาเรลลีหรือแอนโทเนียดี


จะเห็นได้ว่าเกือบทุกกรณีสามารถเอาชื่อจากประเทศหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ในโลกมาใช้ได้ ซึ่งคณะอนุกรรมการก็ได้พยายามทำอย่างนั้นโดยเสมอภาค คือหยิบจากที่โน่นที่นี่มาตามส่วนของทวีปและประเทศที่มีในโลก รวมทั้งจากประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้จึงมีบางส่วนของเมืองไทยอยู่บนดาวอังคาร ดังนี้

หลุมขนาดเล็กบนดาวอังคาร หลุม

Chatturatอ. จัตุรัส (ชัยภูมิ)
Kantangอ. กันตัง (ตรัง)
Nanจ. น่าน
Phonอ. พล (ขอนแก่น)
Takจ. ตาก
Thomไม่พบชื่อนี้โดยตรง แต่มี อ. นาทม (นครพนม)
Yalaจ. ยะลา

กับหุบเขาหนึ่งหุบ

Dao Vallisหุบเขาดาว

และบนดาวศุกร์

Dhorani Coronaทรงกลดแห่งแม่พระธรณี
Phra Naret Coronaทรงกลดแห่งพระนเรศ ฝรั่งบอกว่าเป็นเทพนารีแห่งความอุดมสมบูรณ์ของไทย แต่สงสัยตำราที่เขาใช้อ้างอิงจะเข้าใจผิด พระนเรศโดยทั่วไปหมายถึงพระนเรศวร

นอกจากคำไทยแล้ว ชื่อที่คนไทยรู้จักที่ถูกเอาไปเป็นชื่อภูมิสถานนอกโลกยังมึอยู่อีกมาก เช่น

Kuan-Yin Coronaดาวศุกร์ทรงกลดแห่งเจ้าแม่กวนอิม
Budh pateraดาวพุธแอ่งพระพุธ

คำไทยบนดาวอื่นมีเพียงเท่านี้หรือ จะมีอะไรได้ใช้ชื่อไทยอีกหรือเปล่า

ตราบเท่าที่มนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็น และมีคนออกเงินเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นนั้น การสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะก็จะดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดทั้งในทางกว้างและทางลึก การค้นพบใหม่ ๆ ย่อมเกิดขึ้น ฉะนั้น โอกาสที่ภูมิสถานนอกโลกจะเป็นคำไทยจึงยังเป็นไปได้เสมอ

รูปหลุมอุกกาบาตชื่อไทยบนดาวอังคาร


ชื่อ:Chatturat ขนาด:7.84 กม.
ตำแหน่ง:35.7° เหนือ
265.06° ตะวันออก
 
ชื่อ:Kantang ขนาด:52.44 กม.
ตำแหน่ง:24.7° ใต้
342.42° ตะวันออก
 
ชื่อ:Nan ขนาด:2.29 กม.
ตำแหน่ง:26.96° ใต้
340.06° ตะวันออก
หลุมจิ๋วที่กลางรูป 
ชื่อ:Phon ขนาด:10.02 กม.
ตำแหน่ง:15.7° เหนือ
102.79° ตะวันออก
 
ชื่อ:Tak ขนาด:5.21 กม.
ตำแหน่ง:26.29° ใต้
331.35° ตะวันออก
 
ชื่อ:Thom ขนาด:22.06 กม.
ตำแหน่ง:41.45° ใต้
92.35° ตะวันออก
 
ชื่อ:Thom ขนาด:22.06 กม.
ตำแหน่ง:41.45° ใต้
92.35° ตะวันออก
 
ชื่อ:Yala ขนาด:19.65 กม.
ตำแหน่ง:17.37° เหนือ
321.42° ตะวันออก
 
หุบเขาดาวที่ยาวเกือบ 800 กม. ชื่อ:Dao Vallis
ขนาด:794 กม.
ตำแหน่ง:37.94° ใต้
88.89° ตะวันออก
หุบเขาดาวคือร่องน้ำที่มีเส้นเขียวลากทับ 


หมายเหตุ: ข้อมูลและภาพ ได้มาจากเว็บของ U.S. Geological Survey

บทความเผยแพร่ครั้งแรกในวารสารทางช้างเผือก ฉบับกรกฎาคม พ.ศ. 2546