คลื่นความโน้มถ่วง เป็นสิ่งลึกลับที่สุดอย่างหนึ่งในเอกภพที่นักดาราศาสตร์ได้พยายามค้นหามาเป็นเวลานานโดยไร้ผล แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักดาราศาสตร์คณะหนึ่งได้ค้นพบปรากฏการณ์บางอย่างที่น่าจะบ่งบอกได้ว่าเป็นผลจากคลื่นความโน้มถ่วง
ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของแอลเบิร์ตไอน์สไตน์กล่าวว่า เมื่อวัตถุเคลื่อนที่ จะทำให้เกิดระลอกขึ้นบนปริภูมิ-เวลาแผ่ออกไปโดยรอบ เรียกว่าคลื่นความโน้มถ่วง เมื่อคลื่นความโน้มถ่วงแผ่ออกไปจะนำพลังงานออกไปส่วนหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ในระบบดาวคู่ใกล้ ดาวที่โคจรรอบกันเองจึงเสียพลังงานในการโคจรออกไป ส่งผลให้ตีวงเข้าใกล้กันเรื่อย ๆ และเร็วขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วคณะนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวฟิสิกส์ดาราศาสตร์สมิทโซเนียน ได้ค้นพบดาวแคระขาวคู่หนึ่ง ชื่อว่า เอสดีเอสเอส เจ 065133.338+284423.37 (SDSS J065133.338+284423.37) มีชื่อย่อว่า เจ 0651 (J0651) ดาวแคระขาวคู่นี้โคจรรอบกันเอง อยู่ห่างกันเพียงหนึ่งในสามของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ คาบการโคจรไม่ถึง 13 นาที นอกจากนี้ระนาบการโคจรยังหันมายังโลก ทำให้ทั้งคู่บังกันเองทุกครึ่งรอบ นักดาราศาสตร์จึงวัดคาบของการโคจรได้อย่างแม่นยำแม้วัตถุนี้จะอยู่ห่างออกไปถึง 3,000 ปีแสง
"นับจากที่ค้นพบดาวแคระขาวคู่เจ0651 เป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว คาบการเกิดอุปราคาได้สั้นลงจนเวลาการเกิดได้เลื่อนมาจากที่คาดว่าควรจะเป็นถึงหกวินาที" มูเครมิน คิลิก จากมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมากล่าว
แม้ไม่ใช่หลักฐานโดยตรงแต่ก็ชัดเจนและหนักแน่น ว่าคลื่นความโน้มถ่วงมีอยู่จริง
นักดาราศาสตร์คาดว่าคาบการโคจรนี้จะหดสั้นลงเรื่อยๆ ในเดือนพฤษภาคม 2556 ระยะเวลาที่หดสั้นลงจะเป็น 20 วินาที และในอีก 2 ล้านปีข้างหน้า ดาวแคระขาวทั้งคู่จะชนกันในที่สุด
ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของแอลเบิร์ต
เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว
"นับจากที่ค้นพบดาวแคระขาวคู่เจ
แม้ไม่ใช่หลักฐานโดยตรง
นักดาราศาสตร์คาดว่าคาบการโคจรนี้จะหดสั้นลงเรื่อย