เมื่อปี 2565 นักดาราศาสตร์ตรวจพบคลื่นวิทยุลึกลับจากอวกาศ คลื่นนี้มีความเข้มมาก เกิดขึ้นเป็นเวลาประมาณหนึ่งนาทีแล้วก็หายไป หลังจากนั้นทุก 18 นาที ก็จะเกิดซ้ำขึ้นอีก หลังจากผ่านพ้นไปราวสามเดือน เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ก็ยุติลง ไม่กลับมาเกิดซ้ำอีก
นักดาราศาสตร์รู้จักคลื่นวิทยุที่เกิดซ้ำอยู่แล้วนั่นคือพัลซาร์ พัลซาร์เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุที่เกิดซ้ำเป็นช่วงเหมือนกัน พัลซาร์โดยทั่วไปมีคาบของการส่งคลื่นในระดับวินาทีหรืออาจต่ำกว่าวินาที ซึ่งเป็นคาบที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของดาวนิวตรอน แต่สำหรับคลื่นที่เกิดซ้ำเป็นคาบที่นานหลายนาทีเช่นนี้ นักดาราศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพียงแต่แน่ใจว่าไม่ใช่พัลซาร์ เพราะดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองช้าจะไม่แผ่คลื่นวิทยุออกมา
นักดาราศาสตร์เรียกคลื่นวิทยุประเภทนี้ว่าคลื่นวิทยุกำเนิดซ้ำคาบยาว (slowly repeating radio bursts)
หลังจากที่พบคลื่นวิทยุกำเนิดซ้ำคาบยาวครั้งแรกก็มีการพบคลื่นคล้ายกันอีกไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง แต่ละแห่งมีความคล้ายคลึงกันอย่างหนึ่งก็คือ มีทิศทางมาจากบริเวณใจกลางดาราจักรทางช้างเผือก
การที่มีตำแหน่งอยู่ในทิศทางของใจกลางทางช้างเผือกเป็นอุปสรรคในการศึกษามากเพราะใจกลางทางช้างเผือกมีดาวฤกษ์หนาแน่นมาก ทำให้การค้นหาว่าดาวหรือวัตถุดวงใดเป็นแหล่งกำเนิดคลื่นทำได้ยากมาก
จนเมื่อวันที่1 ธันวาคม 2567 โชคก็เข้าข้างนักดาราศาสตร์เสียที คณะนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคอร์ทินในเพิร์ท ออสเตรเลีย ได้กวาดกล้องโทรทรรศน์เมอร์ชิสันไวด์ฟิลด์ในเวสเทิร์นออสเตรเลียไปบนท้องฟ้า แล้วพบคลื่นวิทยุกำเนิดซ้ำคาบยาวแห่งใหม่ มีชื่อว่า กลีม-เอกซ์ เจ 0704-37 (GLEAM-X J0704-37) มีคาบการแผ่คลื่นนานถึง 2.9 ชั่วโมง ตำแหน่งที่พบอยู่ในกลุ่มดาวท้ายเรือ ซึ่งอยู่ห่างจากใจกลางทางช้างเผือกพอสมควร และไม่ได้อยู่ในระนาบทางช้างเผือกด้วย การที่พบคลื่นในบริเวณที่มีดาวไม่หนาแน่นมากนักทำให้การแยกแยะหาแหล่งกำเนิดคลื่นจึงพอเป็นไปได้ ซึ่งหลักฐานชี้ไปที่ดาวแคระแดงดวงหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปราว 5,000 ปีแสง
ดาวแคระแดงเป็นดาวฤกษ์ชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์มากและมีอุณหภูมิพื้นผิวต่ำกว่า เป็นดาวประเภทที่มีมากที่สุดในดาราจักร
นักดาราศาสตร์คณะนี้ใช้กล้องเมียร์แคตในแอฟริกาใต้สำรวจคลื่นของกลีม-เอกซ์ เจ 0704-37 พบว่าลักษณะของสัญญาณดูไม่เหมือนจะมาจากดาวฤกษ์โดยตรง มีการแผ่คลื่นออกมาซ้ำ แต่มีคาบไม่คงที่ มีการผันแปรขึ้นลงเล็กน้อย ซึ่งแสดงว่าแหล่งกำเนิดคลื่นที่แท้จริงน่าจะเป็นดาวคู่ แต่มองเห็นเพียงดาวแคระแดงเพียงดวงเดียว ดาวอีกดวงหนึ่งไม่เห็น ซึ่งนักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นดาวแคระขาว เพราะหากเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ ซึ่งเกิดขึ้นหลังซูเปอร์โนวา การระเบิดของซูเปอร์โนวาน่าจะทำลายสภาพความเป็นดาวคู่ของระบบจนไม่เหลือรอดมาได้
นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าคลื่นวิทยุไม่ได้เกิดจากดาวแคระแดงโดยตรง แต่จะเกิดที่บริเวณดาวแคระขาวที่โคจรรอบดาวแคระแดง กระแสของอนุภาคประจุไฟฟ้าจากดาวแคระแดงที่เหมือนลมสุริยะปะทะเข้ากับดาวแคระขาว และนี่เองที่ทำให้เกิดคลื่นวิทยุกำเนิดซ้ำคาบยาว
นักดาราศาสตร์รู้จักคลื่นวิทยุที่เกิดซ้ำอยู่แล้ว
นักดาราศาสตร์เรียกคลื่นวิทยุประเภทนี้ว่า
หลังจากที่พบคลื่นวิทยุกำเนิดซ้ำคาบยาวครั้งแรก
การที่มีตำแหน่งอยู่ในทิศทางของใจกลางทางช้างเผือกเป็นอุปสรรคในการศึกษามาก
จนเมื่อวันที่
ดาวแคระแดงเป็นดาวฤกษ์ชนิดหนึ่ง
นักดาราศาสตร์คณะนี้ใช้กล้องเมียร์แคตในแอฟริกาใต้สำรวจคลื่นของ
นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า