
ยานสำรวจดาวศุกร์ของญี่ปุ่นไปถึงเป้าหมาย
ยานสำรวจดาวศุกร์ของญี่ปุ่นไปถึงเป้าหมาย
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้เปิดเผยภาพถ่ายดาวศุกร์ที่ถ่ายโดยยานอะคัตซึกิออกมาเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้เข้าสู่วงโคจรรอบดาวศุกร์ไปในสัปดาห์นี้
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม เวลา 06:51 น. ตามเวลาประเทศไทย ยานอะคัตซึกิ ขององค์การอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา ได้จุดจรวดเป็นเวลา 20 นาทีเพื่อปรับทิศทางของยานเข้าสู่วงโคจรรอบดาวศุกร์ ถัดจากนั้นอีกสองวัน หลังจากการตรวจสอบทิศทางและตำแหน่งของยานอย่างละเอียดถี่ถ้วน จึงยืนยันได้ว่ายานได้เข้าสู่เส้นทางที่ถูกต้อง
วงโคจรเริ่มต้นของยานอะคัตซึกิเป็นวงรีมาก จุดไกลสุดจากดาวศุกร์อยู่ที่ 440,000 กิโลเมตรจากดาวศุกร์ จุดใกล้สุดอยู่ห่างจากผิวดาวศุกร์เพียง 400 กิโลเมตร แจ็กซาเผยว่า วงโคจรนี้ต่ำกว่าที่วางแผนไว้ ทำให้คาบการโคจรรอบดาวศุกร์เป็น 13 วัน 14 ชั่วโมง แทนที่จะเป็น 15 วันดังที่เคยวางไว้
อะคัตซึกิออกเดินทางจากโลกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 และไปถึงดาวศุกร์ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ภารกิจการสำรวจควรจะเริ่มตั้งแต่ในช่วงนั้น แต่เกิดความผิดพลาดในการปรับทิศทางเข้าโคจรรอบดาวศุกร์ จึงต้องรอโอกาสแก้ตัวใหม่ในครั้งนี้
ยานอะคัตซึกิ มีอีกชื่อหนึ่งว่า วีนัสไคลเมตออร์บิเตอร์ มีภารกิจหลักในการสำรวจสภาพลมฟ้าอากาศของดาวศุกร์ บนยานลำนี้มีกล้องที่ถ่ายภาพได้ตั้งแต่ย่านอินฟราเรดสองช่วง และอัลตราไวโอเลต มีอุปกรณ์สำหรับตรวจหาฟ้าแลบบนดาวศุกร์อีกด้วย
ในช่วงหลายเดือนต่อจากนี้ ยานอะคัตซึกิจะปรับวงโคจรของตัวเองให้แคบลงทีละน้อยจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคมปีหน้า ก็จะได้วงโคจรที่มีคาบเก้าวัน เมื่อถึงต้นเดือนเมษายนก็จะเริ่มภารกิจสำรวจตามแผน ซึ่งจะมีอายุของภารกิจราวสองปี