สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แสงแวบเขียวจากดาวศุกร์

แสงแวบเขียวจากดาวศุกร์

28 ม.ค. 2567
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ใครที่ชอบชมพระอาทิตย์ตกที่ขอบฟ้าเหนือทะเลหรือขึ้นจากขอบฟ้าเหนือทะเล อาจเคยพบปรากฏการณ์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า แสงแวบเขียว (green flash) ปรากฏการณ์ชนิดนี้จะเห็นเป็นแสงสีเขียวคล้ายฟ้าแลบเกิดขึ้นระหว่างขอบล่างของดวงอาทิตย์กับเส้นขอบฟ้า 

แสงแวบเขียว ปกติเกิดขึ้นขณะที่ดวงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้าเหนือทะเล  (จาก Paul Wilson via Getty Images)

แสงสีขาวที่ตามองเห็นเกิดจากแสงความยาวคลื่นต่าง ๆ ผสมกัน  เมื่อแสงอาทิตย์ส่องผ่านบรรยากาศโลก แสงบางสีเกิดการหักเหออก ปรากฏการณ์นี้เองที่ทำให้ท้องฟ้าตอนกลางวันมีสีฟ้า เนื่องจากแสงสีฟ้าในแสงอาทิตย์เกิดการกระเจิงในบรรยากาศ

ในสภาพและเงื่อนไขที่จำเพาะเจาะจง แสงอาทิตย์อาจแยกออกเป็นสองทาง โดยเฉพาะเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้า แสงอาทิตย์ต้องเฉือนผ่านชั้นบรรยากาศเป็นมุมแคบจึงต้องเดินทางผ่านบรรยากาศมากกว่าปกติกว่าจะมาถึงผู้สังเกตบนพื้นโลก

เมื่อแสงส่องผ่านชั้นบรรยากาศ แสงที่มีความยาวคลื่นสั้น เช่นแสงสีฟ้า สีม่วง จะกระเจิงออกไปมากที่สุด ในขณะที่แสงที่มีความยาวคลื่นยาว เช่นสีแดง ส้ม หรือเหลือง จะถูกดูดกลืนไปในบรรยากาศ เหลือเพียงแสงสีเขียวที่เหลือรอดมาถึงสายตาผู้สังเกต อย่างไรก็ตาม การจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ มุมต่าง ๆ ต้องเหมาะเจาะพอดี นั่นคือเหตุผลที่ปรากฏการณ์แสงแวบเขียวจึงเกิดขึ้นเป็นเวลาสั้นมาก

คลิประยะใกล้ของดาวศุกร์  แสดงปรากฏการณ์แสงแวบเขียวที่มีสีอื่นประกอบด้วย ถ่ายเมื่อวันที่ มกราคม 2567 ที่สตอกโฮล์ม (จาก Peter Rosén)

แสงแวบเขียวไม่ได้เกิดกับดวงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อวันที่ มกราคมที่ผ่านมา เวลาเช้ามืด ปีเตอร์ โรเซน ช่างภาพชาวสวีเดนถ่ายภาพแสงแวบเขียวเกิดขึ้นกับดาวศุกร์ได้ในสตอกโฮล์ม  

แสงแวบเขียวของดาวศุกร์ในครั้งนี้เกิดขึ้นนานราว วินาที มีสีเขียวเป็นสีหลัก แต่ก็มีสีเหลือง สีส้ม และสีน้ำเงินแทรกอยู่ในบางส่วนด้วย 

แสงแวบเขียวจากดาวศุกร์ เกิดขึ้นได้จากอากาศหนาวจัด ต่างจากแสงแวบเขียวจากดวงอาทิตย์ที่มักเกิดใกล้ขอบฟ้าเหนือมหาสมุทร ดังนั้นจึงมีโอกาสเห็นปรากฏการณ์นี้ห่างจากขอบฟ้าได้ 

แม้การเกิดแสงแวบเขียวบนดาวศุกร์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่แสงแวบเขียวจากดาวศุกร์เกิดขึ้นน้อยมาก นอกจากดาวศุกร์แล้ว ปรากฏการณ์แบบเดียวกันยังเคยพบจากดาวพุธและดวงจันทร์ด้วย