สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อีกครั้งกับโอมูอามูอา สงสัยจะเป็นดาวหางจริง

อีกครั้งกับโอมูอามูอา สงสัยจะเป็นดาวหางจริง

14 ม.ค. 2561
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม แพนสตารรส์-1 ซึ่งเป็นระบบค้นหาวัตถุแปลกปลอมในอวกาศได้ประกาศการค้นพบวัตถุท้องฟ้าดวงหนึ่ง มีชื่อว่า ไอ/2017 ยู 1 หรือที่รู้จักกันในชื่อสามัญว่า โอมูอามูอา การที่พบว่าวัตถุดวงนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากเกินกว่าจะเป็นวัตถุในระบบสุริยะของเรา จึงเชื่อได้ว่าวัตถุดวงนี้มีต้นกำเนิดมาจากนอกระบบสุริยะ ในตอนแรก นักดาราศาสตร์คิดว่าวัตถุนี้เป็นดาวหาง แต่การสำรวจในระยะต่อมาพบว่าไม่มีหาง จึงคิดว่าน่าจะเป็นวัตถุแข็งจำพวกดาวเคราะห์น้อย 

แต่ล่าสุด คณะนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนในเบลฟาส นำโดย แอลัน ฟิตซิมมอนส์ ชี้ว่าบางทีวัตถุดวงนี้อาจมีความเป็นดาวหางมากกว่าดาวเคราะห์น้อย เพราะพบว่ามีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่าที่เคยคาดคิดไว้ 

นักดาราศาสตร์คณะนี้ได้ใช้กล้องวีแอลทีของหอสังเกตการณ์อีเอสโอใต้ในชิลีและกล้องวิลเลียมเฮอร์เชลในลาปัลมาในการวัดสเปกตรัมของแสงอาทิตย์ที่สะท้อนออกมาจากโอมูอามูอาเป็นเวลา 48 ชั่วโมง สเปกตรัมที่วัดได้บ่งบอกว่าวัตถุนี้มีลักษณะเหมือนน้ำแข็งมากกว่าก้อนหิน 

ในย่านแสงขาว โอมูอามูอามีสีอมแดง แต่ถ้าวัดในย่านอินฟราเรดจะออกเป็นกลางหรือสีเทามากกว่า ซึ่งลักษณะเช่นนี้พบได้ในวัตถุที่เป็นน้ำแข็งปนฝุ่นที่ผ่านการอาบรังสีในอวกาศมาเป็นเวลานานนับล้านปี ซึ่งรังสีคอสมิกพลังงานสูงได้ทำให้น้ำบริเวณพื้นผิวสลายตัวไปหมด นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้วัสดุที่เหลือบนพื้นผิวกลายเป็นสารประกอบอินทรีย์อีกด้วย

การค้นพบนี้จึงอธิบายได้ว่า เหตุใดโอมูอามูอาไม่ฟุ้งออกหรือทอดหางขณะที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เหมือนวัตถุประเภทน้ำแข็งทั่วไป นั่นเป็นเพราะมีชั้นของสารประกอบที่มีคาร์บอนอยู่มากห่อหุ้มอยู่
ส่วนสีที่อมแดงของโอมูอามูอาเป็นสีของทอลินซึ่งเกิดจากโมเลกุลอินทรีย์ที่ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตนั่นเอง
โอมูอามูอา ตามจินตนาการของศิลปิน

โอมูอามูอา ตามจินตนาการของศิลปิน (จาก ESO/M. Kornmesser)

ภาพถ่ายโอมูอามูอา ถ่ายโดยกล้องวิลเลียมเฮอร์เชลเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2560 (จาก Queen’s University Belfast/William Herschel Telescope)

ที่มา: