สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โอมูอามูอาเป็นดาวหางจริง ๆ

โอมูอามูอาเป็นดาวหางจริง ๆ

28 มิ.ย. 2561
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แวดวงดาราศาสตร์ต้องตื่นเต้นกับข่าวการค้นพบวัตถุดวงใหม่ดวงหนึ่งจากต่างแดนที่ผ่านเข้ามาเยือนระบบสุริยะชั้นใน วัตถุดวงนี้ต่อมาได้ชื่อว่า โอมูอามูอา

สิ่งหนึ่งที่นักดาราศาสตร์อยากรู้เป็นอย่างมากคือ วัตถุดวงนี้มาจากไหนกันแน่ บางทฤษฎีกล่าวว่าโอมูอามูอาน่าจะมาจากระบบดาวคู่ แม้จะยังไม่ทราบว่ามาจากดาวคู่ดวงใดก็ตาม บ้างก็ว่าอาจเกิดจากการชนที่รุนแรงจนกระเด็นออกจากระบบสุริยะเดิมที่เคยอยู่ 

ลักษณะทางกายภาพของโอมูอามูอาก็เป็นปริศนาเช่นกัน เมื่อแรกค้นพบนักดาราศาสตร์คาดว่ามันน่าจะเป็นดาวหาง แต่การสำรวจไม่พบหาง จึงคิดว่าน่าจะเป็นวัตถุแข็งจำพวกดาวเคราะห์น้อยมากกว่า 

แต่ล่าสุด นักดาราศาสตร์พบหลักฐานที่อาจบอกว่าสิ่งที่เขาเชื่อนั้นผิด

จากการติดตามสำรวจโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลร่วมกับกล้องโทรทรรศน์แคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวาย กล้องวีแอลที และกล้องเจมิไนใต้ของอีเอสโอ พบว่าโอมูอามูอาเคลื่อนที่ถอยห่างออกไปด้วยความเร็วมากกว่าที่ควรจะเป็น 

ขณะนี้โอมูอามูอากำลังถอยห่างออกจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นความเร็วสัมพัทธ์กับดวงอาทิตย์จึงค่อย ๆ ลดลง มาร์โก มิเคลี จากองค์การอีซาและคณะได้พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้โอมูอามูอามีความเร็วมากกว่าที่ควรจะเป็น ทฤษฎีหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ บนวัตถุดวงนี้มีกระบวนการคายแก๊ส โดยเกิดขึ้นเมื่อได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ การคายแก๊สทำให้เกิดแรงดันที่ทำให้วัตถุเคลื่อนที่ออกไปเร็วขึ้น ณ วันที่ มิถุนายน โอมูอามูอาเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 114,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

กระบวนการดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนดาวหาง ไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อย ดังนั้นโอมูอามูอาจึงน่าจะเป็นวัตถุจำพวกดาวหางมากกว่าที่จะเป็นดาวเคราะห์น้อย

แล้วเหตุใดการสำรวจก่อนหน้านี้ไม่มีใครเคยเห็นหางของโอมูอามูอาหรือแม้แต่ภาพที่แสดงการคายแก๊สเลย? 

คาเรน มีช จากมหาวิทยาลัยฮาวาย หนึ่งในคณะสำรวจอธิบายว่า "ก่อนหน้านี้เราไม่พบทั้งฝุ่น โคม่า และหางเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก เราเชื่อว่าสิ่งที่โอมูอามูอาคายออกมาน่าจะเป็นฝุ่นเม็ดหยาบ"

"เดิมโอมูอามูอาอาจมีฝุ่นละเอียดอยู่เช่นเดียวกับดาวหางทั่วไป แต่การที่โอมูอามูอาต้องรอนแรมผ่านอวกาศอันเวิ้งว้างมาเป็นเวลานาน ทำให้ฝุ่นละเอียดกร่อนจนหายไปหมดเหลือเพียงฝุ่นเม็ดหยาบ ซึ่งฝุ่นเม็ดหยาบเมื่อหลุดออกจากหัวดาวหางเป็นโคม่าล้อมรอบแล้วจะไม่สว่างอย่างโคม่าที่เกิดจากฝุ่นละเอียด นี่เป็นสาเหตุที่แม้แต่กล้องฮับเบิลก็ยังมองไม่เห็นหางและการคายแก๊ส"

การที่พบว่าโอมูอามูอามีการคายแก๊สด้วย ทำให้การเคลื่อนที่ของวัตถุดวงนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้น นั่นทำให้การสืบเสาะหาถิ่นกำเนิดจากเส้นทางการโคจรทำได้ยากยิ่งขึ้นไปอีกหรือเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลย 

ขณะนี้ โอมูอามูอากำลังเคลื่อนที่ถอยห่างออกจากดวงอาทิตย์ไปเรื่อย ๆ วัตถุดวงนี้ได้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ กันยายน 2560 ผ่านวงโคจรของดาวพฤหัสบดีไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมปีนี้ และจะผ่านวงโคจรของดาวเสาร์ในเดือนมกราคมปีหน้า ในเดือนสิงหาคม 2563 ก็จะไปถึงวงโคจรของดาวยูเรนัส และผ่านวงโคจรของดาวเนปจูนในเดือนมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นอีกปีหนึ่งก็จะหลุดพ้นแถบไคเปอร์ 

และในเดือนพฤศจิกายน 2581 โอมูอามูอาก็จะไปถึงเขตสุดสุริยะ (heliopause) ซึ่งถือเป็นพรมแดนสุดท้ายที่อิทธิพลของดวงอาทิตย์จะแผ่ไปถึง นั่นคือการออกจากระบบสุริยะของเราไปนั่นเอง

ภาพตามจินตนาการของศิลปินของ <wbr>โอมูอามูอา <wbr>วัตถุจากนอกระบบสุริยะดวงแรกที่ค้นพบ <wbr>จากหลักฐานล่าสุดพบว่าวัตถุดวงนี้มีการคายแก๊สเช่นเดียวกับดาวหาง <wbr><br />

ภาพตามจินตนาการของศิลปินของ โอมูอามูอา วัตถุจากนอกระบบสุริยะดวงแรกที่ค้นพบ จากหลักฐานล่าสุดพบว่าวัตถุดวงนี้มีการคายแก๊สเช่นเดียวกับดาวหาง 

แผนผังแสดงตำแหน่งของโอมูอามูอาในระบบสุริยะ <wbr>แสดงถึงตำแหน่งจริงที่คลาดเคลื่อนไปจากตำแหน่งที่ควรจะเป็นหากวัตถุนี้เคลื่อนที่ภายใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงเพียงอย่างเดียว <wbr>โดยตำแหน่งที่วัดได้แสดงว่าโอมูอาเคลื่อนที่เร็วกว่า <wbr><br />
<br />

แผนผังแสดงตำแหน่งของโอมูอามูอาในระบบสุริยะ แสดงถึงตำแหน่งจริงที่คลาดเคลื่อนไปจากตำแหน่งที่ควรจะเป็นหากวัตถุนี้เคลื่อนที่ภายใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงเพียงอย่างเดียว โดยตำแหน่งที่วัดได้แสดงว่าโอมูอาเคลื่อนที่เร็วกว่า 

(จาก SpaceTelescope.org)

ที่มา: