สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วัตถุในระบบสุริยะที่อยู่ไกลที่สุดดวงใหม่

วัตถุในระบบสุริยะที่อยู่ไกลที่สุดดวงใหม่

1 มี.ค. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อเดือนธันวาคม วงการดาราศาสตร์ได้ตื่นเต้นกับข่าวการค้นพบสมาชิกดวงใหม่ของระบบสุริยะที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากถึง 120 หน่วยดาราศาสตร์ นับเป็นวัตถุระบบสุริยะที่อยู่ไกลที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ มีชื่อทางการว่า 2018 วีจี 18 (2018 VG18) มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 500 กิโลเมตร จึงอยู่ในระดับที่เรียกว่าเป็นดาวเคราะห์แคระ นักดาราศาสตร์ตั้งชื่อเล่นให้วัตถุดวงนี้แบบไม่ต้องคิดเยอะว่า ฟาร์เอาต์ (FarOut) 


แต่ฟาร์เอาต์ครองแชมป์ของวัตถุไกลที่สุดในระบบสุริยะได้เพียงสองเดือนเท่านั้น เพราะล่าสุดนักดาราศาสตร์พบวัตถุดวงใหม่ที่อยู่ไกลกว่าฟาร์เอาต์เสียอีก

วัตถุดวงใหม่นี้ค้นพบโดย ดร.สก็อตต์ เชปเพิร์ด นักดาราศาสตร์จากศูนย์วิทยาศาสตร์คาร์เนกี ณ วอชิงตันดีซี เป็นคณะเดียวกับที่ค้นพบฟาร์เอาต์เมื่อเดือนธันวาคมและ กอบลิน (2015 ทีจี 387) เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

วัตถุดวงใหม่นี้อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ถึง 140 หน่วยดาราศาสตร์ เชปเพิร์ดตั้งชื่อเล่นให้แก่วัตถุดวงใหม่ที่ค้นพบแบบไม่ต้องคิดเยอะอีกเช่นกันว่า ฟาร์ฟาร์เอาต์ (FarFarOut) 

วงโคจรของดาวเคราะห์แคระชื่อ 2015 ทีจี 387 หรือที่มีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า กอบลิน มีจุดใกลสุดจากดวงอาทิตย์ไกลกว่าดาวเซดนา (2012 วีพี 113)   (จาก Roberto Molar Candanosa and Scott Sheppard, courtesy of Carnegie Institution for Science.)


วงโคจรของดาวเคราะห์หมายเลขเก้าตามการคำนวณของนักดาราศาสตร์  (จาก Caltech/R. Hurt (IPAC))


การค้นพบที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นจากปฏิบัติการค้นหาดาวเคราะห์หมายเลขเก้า ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ในทฤษฎีที่นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่ามีอยู่จริงจากหลักฐานด้านวงโคจรของวัตถุดวงอื่น มีการประมาณว่าดาวเคราะห์หมายเลขเก้าอาจมีมวลมากกว่าโลกถึงสิบเท่าเลยทีเดียว นับจากที่มีการประกาศเรื่องดาวเคราะห์หมายเลขเก้า มีนักดาราศาสตร์หลายคณะต่างพยายามค้นหาวัตถุดวงนี้ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบ วัตถุที่เชปเพิร์ดค้นพบทั้งสามครั้งแม้จะน่าสนใจ แต่ก็ยังไม่ใช่ดาวเคราะห์หมายเลขเก้าเพราะขนาดและวงโคจรไม่ใกล้เคียงกับดาวเคราะห์หมายเลขเก้าตามที่มีการคำนวณไว้เลย

การจัดอันดับวัตถุที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ที่สุดที่กล่าวถึงในที่นี้ เป็นการวัดเฉพาะตำแหน่งปัจจุบันของวัตถุเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาวงโคจรของวัตถุ 

ทั้งชื่อ กอบลิน ฟาร์เอาต์ ฟาร์ฟาร์เอาต์ ที่เรียกกันนี้ เป็นชื่อที่เรียกกันอย่างลำลองที่ตั้งโดยคณะผู้ค้นพบเท่านั้น ไม่ใช่ชื่อสามัญที่เป็นทางการ การตั้งชื่อที่เป็นทางการเป็นหน้าที่ของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล

จนถึงขณะนี้นักดาราศาสตร์ยังมีข้อมูลของฟาร์ฟาร์เอาต์น้อยมาก ไม่ทราบทั้งขนาดและมวล ทั้งหมดที่ทราบในขณะนี้ก็คือ มันมีอยู่จริง