สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเทียมของญี่ปุ่นถูกพายุสุริยะโจมตี

ดาวเทียมของญี่ปุ่นถูกพายุสุริยะโจมตี

1 ส.ค. 2543
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อระหว่างวันที่ 15 ถึง 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา สถานีสังเกตการณ์ลอยฟ้าชื่อเอเอสซีเอ (ASCA-Advanced Satellite for Cosmology and Astrophysics) -ได้ปรับตัวเองเข้าสู่สภาวะปลอดภัย (เซฟโหมด) หลังจากที่ดาวเทียมเริ่มเสียการควบคุมระดับความสูงและหมุนตีลังกา จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ และเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นอาจต้องเสียดาวเทียมดวงนี้ไป 

วิศวกรขององค์การอวกาศญี่ปุ่น (ISAS) เชื่อว่า ต้นเหตุของปัญหาดังกล่าวเกิดจากพายุสุริยะโจมตี เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่กี่วันได้เกิดการลุกจ้าใหญ่บนดวงอาทิตย์ เมื่อพายุสุริยะรบกวนบรรยากาศของโลกจะทำให้ชั้นบรรยากาศร้อนขึ้นและขยายตัวพองออก ความหนาแน่นที่บรรยากาศชั้นสูงจึงสูงขึ้นและไปหน่วงความเร็วของดาวเทียมที่โคจรอยู่ รวมทั้งที่ระดับความสูง 440 กิโลเมตรของเอเอสซีเอก็ได้รับผลนี้ด้วย หากแรงหน่วงเกิดขึ้นมากเกินระดับที่ยานจะรับมือชดเชยได้ ยานก็จะหมุนตีลังกา 

การที่ยานหมุนเคว้งตลอดเวลานี้ ทำให้แผงรับแสงอาทิตย์ของเอเอสซีเอรับแสงได้ไม่เต็มที่ จึงผลิตกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอที่จะล่อเลี้ยงระบบ ยานจึงปรับเข้าสู่สภาวะปลอดภัยและปิดระบบที่ไม่จำเป็นลง แล้วใช้พลังงานจากแบตเตอรี่แทน ดังนั้นวิศวกรจึงต้องรีบแก้ปัญหาเกี่ยวกับแหล่งจ่ายไฟเสียก่อนแล้วค่อยแก้ปัญหาด้านการควบคุมระดับความสูงต่อไป แต่ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่อาจจะกู้สถานีสังเกตการณ์ลำนี้ได้ ก็ยังต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะสามารถปฏิบัติภารกิจสำรวจรังสีเอกซ์ได้อีกครั้ง 

เอเอสซีเอ ชื่อเดิมคือ แอสโตร-ดี (ASTRO-D) ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2536 มีน้ำหนัก 417 กิโลกรัม ตัวยานมีกล้องโทรทรรศน์รังสีเอกซ์ ตัว พร้อมด้วยกล้องถ่ายภาพ ตัว มีภารกิจหลักในการศึกษาและค้นหาหลุมดำ สสารมืด จนถึงวิวัฒนาการทางเคมีของเอกภพ 

เอเอสซีเอปัจจุบันอยู่ในช่วงของปฏิบัติการเสริม โดยมีกำหนดการที่จะทิ้งตัวลงสู่โลกในปีหน้า แม้ว่ายานลำนี้จะมีประสิทธิภาพด้อยกว่ากล้องรังสีเอกซ์รุ่นใหม่ ๆ อย่างจันทราหรือเอกซ์เอ็มเอ็ม-นิวตันก็ตาม แต่เอเอสซีเอจะได้เปรียบในการสำรวจระยะยาว ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ตัวอื่นไม่สามารถทำได้ 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์การอวกาศญี่ปุ่น (ISAS) ได้ส่งยานแอสโตร-อี (ASTRO-E) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์รังสีเอกซ์ตัวใหม่ขึ้นไปปฏิบัติการแทน แต่การปล่อยยานแอสโตร-อีในครั้งนั้นกลับล้มเหลวเนื่องจากจรวดเอ็ม-วีไม่สามารถส่งยานไปถึงวงโคจรได้ 

สถานีสังเกตการณ์เอเอสซีเอ (ASCA) ขององค์การอวกาศญี่ปุ่น (ISAS)

สถานีสังเกตการณ์เอเอสซีเอ (ASCA) ขององค์การอวกาศญี่ปุ่น (ISAS)

ที่มา: