ในทศวรรษ 1980 ยานวอยเอเจอร์ 2 ได้เดินทางไปถึงขอบนอกของเขตดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ยานได้เข้าเฉียดดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน และถ่ายภาพดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ในระยะใกล้ ยานได้ส่งภาพดาวเคราะห์สองดวงนี้กลับมา ทำให้เป็นครั้งแรกที่ชาวโลกได้ยลโฉมดาวเคราะห์แก๊สสองดวงนี้อย่างเต็มตาเป็นครั้งแรก ภาพยูเรนัสและเนปจูนสวยงามตราตรึง ดาวยูเรนัสมีสีฟ้าอมเขียว ส่วนดาวเนปจูนเป็นสีครามสวยงามช่างเหมาะเจาะกับเทพประจำดาวซึ่งเป็นเทพแห่งท้องทะเล
หลังจากยานวอยเอเจอร์ผ่านไปก็ไม่มียานลำไหนได้เข้าใกล้ดาวเคราะห์สองดวงนี้อีกเลย ภาพดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนที่ใช้เผยแพร่กันตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นภาพที่ถ่ายจากยานวอยเอเจอร์ทั้งสิ้น
เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของบรรยากาศของดาวเคราะห์ทั้งสองจะพบว่ามีองค์ประกอบเกือบเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องแปลกที่มีสีสันได้ต่างกันถึงเพียงนี้
นักดาราศาสตร์คณะหนึ่งนำโดยศาสตราจารย์แพทริก เออร์วิน จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ได้นำข้อมูลดิบจากยานวอยเอเจอร์ร่วมกับภาพที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และกล้องกล้องวีแอลทีมาประมวลผลภาพใหม่ ผลที่ได้ทำให้ต้องประหลาดใจอย่างมากว่า ที่ผ่านมาเราเข้าใจผิดมาตลอด ดาวเนปจูนไม่ได้มีสีน้ำเงินเข้ม แต่มีสีฟ้าอมเขียวเล็กน้อยใกล้เคียงกับดาวยูเรนัสมาก แต่ดาวเนปจูนมีสีอมน้ำเงินเล็กน้อย
สาเหตุของความเข้าใจผิดเกิดจากยานวอยเอเจอร์ 2 บันทึกภาพของดาวเคราะห์ทั้งสองนี้ด้วยย่านความยาวคลื่นต่างกัน ดาวเนปจูนถ่ายและประมวลผลเพื่อให้เน้นความเปรียบต่าง และเร่งสีให้เข้มขึ้น สีของดาวเนปจูนที่เห็นจากภาพจึงมีมีความเข้มกว่าความเป็นจริง
"การเร่งความอิ่มสีในภาพถ่ายเป็นเรื่องที่ทำกันทั่วไปเป็นปกติในวงการนักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์และการปรับปรุงดังกล่าวก็มีระบุไว้ในคำอธิบายภาพด้วย แต่เมื่อนานวันเข้า ผู้คนก็ลืมเลือนกันไป หลงคิดว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือสีจริง สิ่งที่คณะของเราทำในครั้งนี้คือนำข้อมูลดิบมาประมวลผลใหม่ สิ่งที่ได้คือภาพสีที่ใกล้เคียงความจริงที่สุดของทั้งดาวเนปจูนและดาวยูเรนัส" ศาสตราจารย์เออร์วินอธิบาย
การสำรวจครั้งนี้ยังมีผลพลอยได้อีกประการหนึ่งนั่นคือช่วยไขปริศนาการเปลี่ยนสีตามฤดูกาลของดาวยูเรนัสได้ ดาวยูเรนัสมีคาบการโคจร 84 ปี นักดาราศาสตร์พบว่าช่วงอายัน ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวยูเรนัสหันขั้วเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์มากจะมีสีอมเขียวมากขึ้น ส่วนในช่วงวิษุวัต ซึ่งดาวจะหันเส้นศูนย์สูตรเข้าหาดวงอาทิตย์ ดาวยูเรนัสจะมีสีน้ำเงินมากขึ้นเล็กน้อย เป็นอย่างนี้ทุกปี
นักวิจัยคณะนี้พบว่าสาเหตุเกี่ยวข้องกับแกนหมุนของดาวยูเรนัสที่เอียงมากเป็นพิเศษ ดาวยูเรนัสมีแกนหมุนที่เอียงมากจนในช่วงอายันเกือบหันขั้วเข้าหาดวงอาทิตย์เลยทีเดียว บรรยากาศบริเวณขั้วดาวยูเรนัสมีมีเทนน้อยกว่าบริเวณอื่น มีเทนมีสมบัติดูดกลืนแสงสีแดง เมื่อการวางขั้วของดาวยูเรนัสเปลี่ยนไปสมบัติการสะท้อนแสงก็เปลี่ยนตาม นอกจากนี้ยังพบว่าหมอกของละอองมีเทนแข็งจับตัวหนาขึ้นในช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากวิษุวัตไปเป็นอายัน ยิ่งมีส่วนทำให้สีสันของดาวเปลี่ยนไปด้วย
หลังจากยานวอยเอเจอร์ผ่านไป
เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของบรรยากาศของดาวเคราะห์ทั้งสองจะพบว่า
นักดาราศาสตร์คณะหนึ่งนำโดยศาสตราจารย์
สาเหตุของความเข้าใจผิดเกิดจาก
"การเร่งความอิ่มสีในภาพถ่ายเป็นเรื่องที่ทำกันทั่วไปเป็นปกติในวงการนักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์
การสำรวจครั้งนี้ยังมีผลพลอยได้อีกประการหนึ่ง
นักวิจัยคณะนี้พบว่า