ห่างจากโลกออกไปเพียงไม่ถึงสองพันปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวนกอินทรี ยักษ์ล่องหนตนหนึ่งซุ่มซ่อนอยู่โดยไม่มีใครเห็นมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งถูกตรวจพบโดยดาวเทียมไกอา โดยการช่วยเหลือของดาวฤกษ์ข้างเคียง
หลุมดำดวงนี้มีชื่อว่าไกอาบีเอช 3 (Gaia BH3) หรือ บีเอช 3 (BH3) อยู่ห่างจากระบบสุริยะเพียง 1,924 ปีแสง ทำให้เป็นหลุมดำที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะที่สุดเป็นอันดับสอง
การค้นพบหลุมดำเพิ่มสักดวงอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรนักแต่การที่พบว่าหลุมดำดวงนี้อยู่ไม่ไกลจากโลก และมีมวลสูงที่สุดในบรรดาหลุมดำมวลดาวฤกษ์ทั้งหมด มันก็ชวนให้น่าตกใจไม่น้อย
หลุมดำมีสองจำพวกใหญ่ๆ จำแนกตามย่านของมวล ได้แก่ หลุมดำมวลดาวฤกษ์ หลุมดำประเภทนี้มีมวลใกล้เคียงกับดาวฤกษ์มวลสูงทั่วไป และหลุมดำมวลยวดยิ่ง มีมวลสูงมากในระดับหลายล้านหรือหลายพันล้านเท่าของดวงอาทิตย์ พบอยู่ตามใจกลางดาราจักรเกือบทุกดาราจักร
หลุมดำมวลดาวฤกษ์เกิดจากดาวฤกษ์ที่หมดอายุขัยยุบตัวลงหลุมดำประเภทนี้อาจมีมวลได้มากถึงราว 65 เท่าของดวงอาทิตย์
นักดาราศาสตร์ประเมินว่าในดาราจักรทางช้างเผือกของเรามีหลุมดำมวลดาวฤกษ์อยู่มากถึง100 ล้านดวง แต่การค้นหาวัตถุชนิดนี้ทำได้ยากมาก เพราะหลุมดำไม่เปล่งแสง การค้นหาโดยการตรวจจับรังสีหรืออนุภาคจากหลุมดำโดยตรงจึงเป็นไปไม่ได้ การตรวจหาพบหลุมดำจึงต้องตรวจหาทางอ้อม วิธีหนึ่งคือตรวจหารังสีที่อยู่ใกล้หลุมดำ เมื่อมีสสารตกลงสู่หลุมดำ ขณะที่สสารใกล้ถึงปากเหวของหลุมดำจะมีความร้อนสูงและแผ่รังสีออกมาให้ตรวจจับได้ สสารดังกล่าวอาจเป็นเนื้อดาวจากดาวดวงอื่นที่บังเอิญผ่านมาใกล้ หรือมาจากดาวสหายในกรณีที่อยู่ในระบบดาวคู่ แต่หากไม่มีสสารใดมาป้อนสู่หลุมดำ หลุมดำก็จะอยู่ในสภาพจำศีล ไม่แผ่รังสีใด ๆ เลย จึงไม่มีทางตรวจพบด้วยวิธีนี้ได้
สำหรับหลุมดำจำศีลก็ยังมีอีกหนทางที่จะตรวจหาได้หากหลุมดำดังกล่าวเป็นสมาชิกของระบบดาวคู่ หมายความว่ามีดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งอยู่ไม่ไกลออกไป และทั้งสองก็โคจรรอบซึ่งกันและกัน เมื่อสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะมองเห็นดาวฤกษ์เพียงดวงเดียวกำลังโคจรรอบสิ่งที่มองไม่เห็นอยู่ ซึ่งตีความได้ว่าวัตถุที่มองไม่เห็นนั้นคือหลุมดำนั่นเอง
หลุมดำไกอาบีเอช3 ก็ถูกค้นพบด้วยวิธีหลังนี้เอง โดยยานที่ชื่อว่า ไกอา
ไกอาเป็นหอสังเกตการณ์ลอยฟ้ายานที่โคจรรอบดวงอาทิตย์โดยอยู่ที่ตำแหน่งแอลสองของระบบโลก-ดวงอาทิตย์เข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 2556 ภารกิจของไกอาคือสร้างแผนที่สามมิติที่แสดงตำแหน่งของดาวในดาราจักรทางช้างเผือกด้วยความแม่นยำสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างกันมา ยิ่งสำรวจเป็นเวลานานเท่าใด การวัดตำแหน่งก็ยิ่งแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น
บีเอช3 เป็นสมาชิกของระบบดาวคู่ วัตถุทั้งสองอยู่ห่างจากกัน 16 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ โคจรรอบกันทุก 11.6 ปี และหลุมดำมีมวลประมาณ 32.7 มวลสุริยะ นับเป็นหลุมดำมวลดาวฤกษ์ที่มีมวลมากที่สุดที่เคยพบในดาราจักรทางช้างเผือก
ดาวสหายของบีเอช3 เป็นดาวฤกษ์ขนาดเล็ก มีมวลราว 76 เปอร์เซ็นต์ของดวงอาทิตย์ แต่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึงห้าเท่า มีธาตุหนักน้อยมาก แสดงว่าดาวดวงนี้มีอายุมาก ธาตุในดาวเป็นธาตุรุ่นแรกที่เกิดขึ้นมาพร้อมเอกภพ และไม่พบว่ามีร่องรอยของธาตุจากดาวฤกษ์ที่เป็นต้นกำเนิดของหลุมดำบีเอช 3 พามาขณะที่เกิดซูเปอร์โนวา นั่นแสดงว่าดาวทั้งสองเพิ่งมาโคจรรอบกันหลังจากที่หลุมดำเกิดขึ้นแล้ว
การที่หลุมดำมวลดาวฤกษ์ตรวจหาได้ยากมากทำให้จนถึงปัจจุบันมีหลุมดำมวลดาวฤกษ์ที่พบและยืนยันได้ราว 20 ดวงเท่านั้น
การค้นพบนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่ามีหลุมดำประเภทเดียวกันนี้อีกมากน้อยเพียงใด บีเอช 3 คงจะไม่ใช่หลุมดำดวงสุดท้ายของไอกา นักดาราศาสตร์เชื่อว่าเมื่อข้อมูลจากไกอามีมากขึ้นและถูกนำมาวิเคราะห์มากขึ้น จะพบหลักฐานหลุมดำประเภทเดียวกันกับบีเอช 3 อีกไม่น้อย
หลุมดำดวงนี้มีชื่อว่า
การค้นพบหลุมดำเพิ่มสักดวงอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรนัก
หลุมดำมีสองจำพวกใหญ่
หลุมดำมวลดาวฤกษ์เกิดจากดาวฤกษ์ที่หมดอายุขัยยุบตัวลง
นักดาราศาสตร์ประเมินว่าในดาราจักรทางช้างเผือกของเรามีหลุมดำมวลดาวฤกษ์อยู่มากถึง
สำหรับหลุมดำจำศีล
หลุมดำไกอาบีเอช
ไกอาเป็นหอสังเกตการณ์ลอยฟ้ายานที่โคจรรอบดวงอาทิตย์โดยอยู่ที่ตำแหน่งแอลสองของระบบโลก-ดวงอาทิตย์
บีเอช
ดาวสหายของบีเอช
การที่หลุมดำมวลดาวฤกษ์ตรวจหาได้ยากมาก
การค้นพบนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า